ISO 20022  มิติใหม่ของการชำระเงิน

14 มี.ค. 2563 | 06:25 น.

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว (digital disruption) ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจที่เน้นสะดวก ง่าย รวดเร็ว ทำให้การชำระเงินออนไลน์เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ lifestyle ในปัจจุบัน โดยเห็นได้จากปริมาณการใช้ mobile/internet banking ที่เพิ่มขึ้นถึง 70.4% เทียบปีก่อน จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมระบบการชำระเงินที่เป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของ digital 
payment ที่สูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีนโยบายผลักดันการพัฒนาระบบชำระเงินของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า digital payment จะเป็นทางเลือกหลักของการชำระเงิน มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนตํ่าและตรงความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยหนึ่งในเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ก็คือนำมาตรฐานสากล ISO 20022 มาใช้ เพื่อรองรับการรับ-ส่งข้อมูลทางธุรกิจและการเชื่อมโยง (interoperability) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

มาตรฐาน ISO 20022 ถ้าเปรียบง่ายๆคือ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารสำหรับการรับ-ส่งข้อความธุรกรรมทางการเงินระหว่างภาคธนาคาร ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรองรับธุรกรรมการเงินประเภทต่างๆ ได้แก่ การโอนเงินและชำระเงิน(payments) การซื้อขายหลักทรัพย์(securities) การซื้อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน(trade services) การใช้บัตรเครดิต/เดบิต (cards)และการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (foreign exchanges)

ISO 20022  มิติใหม่ของการชำระเงิน

มาตรฐาน ISO 20022 มีจุดเด่นที่ก้าวข้ามข้อจำกัดในปัจจุบันคือ สามารถรองรับการส่งข้อมูลอื่นไปพร้อมกับข้อความการชำระเงินได้จำนวนมาก เป็นการตอบโจทย์ความต้องการในการเชื่อมโยงของภาคธุรกิจและสนับสนุนให้กระบวนการทำงานเป็น digital businesses อย่างครบวงจร รวมถึงมีข้อมูลรองรับกระบวนการตรวจสอบภายในและใช้วิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทำให้ลดขั้นตอนและต้นทุน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งถือเป็นประตูสำคัญไปสู่ digital economy

ประเทศไทยได้นำมาตรฐาน ISO 20022 มาใช้กับระบบการชำระเงิน โดย ธปท.ร่วมกับภาคธนาคาร ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ให้บริการระบบการชำระเงินกลางและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)ในการพัฒนามาตรฐานข้อความให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง(stakeholders) ในทุกภาคส่วน โดยภาคธุรกิจสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดกระบวนการและการใช้กระดาษ (paperless) และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น สำหรับภาคธนาคาร จะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินดิจิทัลและต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน เช่น digital lending และภาครัฐ ได้รับบริการที่รวดเร็วครบวงจร และการรับจ่ายเงินที่มีความโปร่งใสมากขึ้น

การนำมาตรฐาน ISO 20022 มาใช้นี้ จะทำให้เกิดโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินไทยให้สามารถเชื่อมโยงการชำระเงินกับระบบอื่นๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว สอดคล้องมาตรฐานสากล ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้นในโลกไร้พรมแดน (globalization) สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นเพียงภาพฝัน หากได้รับความร่วมมือและการนำไปปรับใช้จากทุกภาคส่วนซึ่งถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของISO 20022 มิติใหม่ของการชำระเงิน

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : รวมพร ประวัติเมือง

ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท.

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563