“ครม.”แจกคนละ2พันบาท  สู้โคโรนาดีเดย์พ.ค.นี้

06 มี.ค. 2563 | 07:23 น.

ครม.ศก. อนุมัติมาตรการชุดที่ 1 สู้วิกฤติไวรัสโคโรนาเบื้องต้นแจกเงินเดือนละ 1,000 บาท 2 เดือน ช่วยอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร พร้อมออกสินเชื่อซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำ 2% อุ้มผู้ประกอบการ

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)ว่า ครม.เศรษฐกิจ ได้ออกมาตรการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และภัยแล้งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การแจกเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมเป็นเงินรายละ 2,000 บาท โดยจะเริ่มแจกตั้งแต่เดือน พฤษภาคมเป็นต้นไป และการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย 

 “ครม.”แจกคนละ2พันบาท  สู้โคโรนาดีเดย์พ.ค.นี้

“รัฐบาลพร้อมจะนำพาให้ผ่านพ้นวิกฤติให้ได้ โดยขออย่าโจมตีไม่เช่นนั้นจะไปไม่ได้ อย่าบอกว่าดีแต่แจกเงิน แต่อยากให้เห็นใจผู้ประกอบการ และคนมีรายได้น้อย ซึ่งเรายืนยันว่าไม่ได้แจกยาว”พลเอกประยุทธ์ กล่าว 

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจได้มีมติเห็นชอบมาตรการชุดที่ 1 เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มขยายวงกว้าง ไม่เฉพาะภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น 

 

“การให้เงินช่วยเหลือเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น โดยทุกอย่างจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เราไม่ได้บอกว่าจะแจกเงินแสนล้านบาท เพราะประเทศไม่ใช่ของเล่น”นายสมคิด กล่าว 

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการชุดที่ 1 ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ มาตรการทางการเงินการคลัง และมาตรการทางภาษี สำหรับมาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย

1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการ โดยแนวทางคือ ให้ธนาคารออมสินให้เงินกู้ให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และให้สถาบันการเงินปล่อยให้ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ 

 “ครม.”แจกคนละ2พันบาท  สู้โคโรนาดีเดย์พ.ค.นี้

2.มาตรการพักเงินต้นและพิจารณาผ่อนภาระดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 
3.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ก่อนเริ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งยืดเวลาการชำระหนี้ ปรับวงเงินจากระยะสั้นเป็นระยะยาว ลดค่าธรรมเนียม โดยจะคลอบคลุมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และบุคคลธรรมดา 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปรับลดวงเงินชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่เดิมจะต้องชำระขั้นต่ำในอัตรา 10% ซึ่งจะผ่อนคลายเป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่ มกราคม 2563 ที่ผ่านมา 

4.มาตรการสินเชื่อที่สำนักงานประกันสังคมนำเสนอ โดยจะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ ที่จะให้กับผู้ประกอบการ 

ส่วนมาตรการด้านมาตรการภาษี ประกอบด้วย

1.ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือ withholding tax ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อลดภาระเป็นการชั่วคราว

2.มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ

3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้นำรายจ่ายที่ผู้ประกอบการจ่ายให้กับลูกจ้างนำมารหักภาษีได้ 3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.- 31 ก.ค.นี้ เพื่อให้นายจ้างยังคงจ้างลูกจ้างต่อ โดยจะเน้นที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี 

4.เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการในประเทศ โดยจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ดี ที่ยื่นแบบทางอินเตอร์เนต โดยจะได้รับคืนภาษีภายใน 15 วัน 

5.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนโดยจะเป็นมาตรการชั่วคราว โดยอาศัยกรอบกองทุน SSF แต่จะแบ่งวงเงินใหม่เพิ่มเติม โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เสนอให้ลงทุนในกองที่ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ส่วนระยะเวลาการถือครองยังคงเป็น 10 ปี โดยจะต้องซื้อภายในมิ.ย. 2563 นี้เท่านั้น 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น การบรรเทาภาระค่าธรรมเนียมค่าเช่า ค่าตอบแทนที่เรียกเก็บจากเอกชน มาตรการบรรเทาค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทยจะไปพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน จะมีการพิจารณามาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนลูกจ้างและนายจ้าง 

 “ครม.”แจกคนละ2พันบาท  สู้โคโรนาดีเดย์พ.ค.นี้