‘ประกันชีวิต’โอด ปัจจัยรุมเร้าดีสุดเบี้ยโตแค่1%

23 ก.พ. 2563 | 23:40 น.

นายกประกันชีวิตโอด ปัจจัยรุมเร้า ส่งผลเบี้ยประกันปี 63 ดีสุดโตได้ 1% แนะสมาชิกลงทุนธุรกิจอื่น จากเพดานการลงทุนที่เพิ่มเป็น 30%  พร้อมออกผลิตภัณฑ์รับเทรนด์ดอกเบี้ยตํ่า พร้อมผนึกรัฐ ออกกรมธรรม์พื้นฐานรับผู้ถือบัตรสวัสดิการ

 

การระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ โควิด-19 เข้ามาเป็นความท้าทายในหลายๆธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจประกันชีวิตด้วยนุสรา (อัสสกุล)บัญญัติปิยพจน์นายกสมาคมประกันชีวิตไทยระบุว่า ธุรกิจประกันชีวิตปี 2563 มีแนวโน้มทรงตัวหรือไม่เติบโตจากปีก่อน โดยคาดว่าทั้งปี 2563 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6.1 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากเบี้ยประกันชีวิตปีแรก 1.19 แสนล้านบาท เบี้ยประกันชีวิตแบบชำระครั้งเดียวที่ 6.6-6.9 หมื่นล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตปีต่ออายุที่ 4.2-4.28 แสนล้านบาท โดยเบี้ยรวมทั้งปีคาดว่าจะติดลบ 2% ถึงเติบโต 1%

เป้าหมายของสมาคมต้องดูแลสมาชิก แม้วันนี้ธุรกิจประกันชีวิตจะแข็งแกร่ง แต่เรากำลังทำไปอีกตลอดชีวิตของลูกค้า ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิต จึงต้องพอมีกำไรเพื่อที่จะอยู่ได้ ขณะเดียวกันเราทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อจะดูแลประชาชน โดยเฉพาะการเสนอกรมธรรม์พื้นฐาน สำหรับประชาชนที่ได้ลงทะเบียนจำนวน 14 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่ามาก แนวทางกำกับความมั่นคงทางการเงินในธุรกิจประกัน โดยเฉพาะมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 ซึ่งจะมีผลมาก บริษัทประกันชีวิตจะต้องระมัดระวัง ความสามารถในการทำกำไร ในสินค้าที่เสนอขาย โดยสินค้าที่เคยขายในอดีตและคิดว่ามีกำไร แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลด อาจทำให้บริษัทขาดทุน ซึ่งในหลักการมาตรฐานบัญชี IFRS17 จะต้องบันทึกผลขาดทุนทั้งจำนวน และตลอดสัญญากรมธรรม์ ในทางตรงกันข้าม กรมธรรม์ที่มีกำไรและยังมีความคุ้มครองจะต้องกระจายการรับรู้กำไรไปตลอดสัญญา

‘ประกันชีวิต’โอด ปัจจัยรุมเร้าดีสุดเบี้ยโตแค่1%

มาตรฐาน IFRS17 นั้น ปัจจุบันยังมีประเด็นเรื่องการเสียภาษี เพราะมาตรฐานบัญชีดังกล่าวจะมีเฉพาะกำไรจากการรับประกันชีวิตโดยไม่มีคำว่าเบี้ยประกันซึ่งเดิมหลักการเสียภาษีระบุเป็นเบี้ยประกันดังนั้นสมาคมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรมสรรพากรเพื่อหาข้อสรุปการเสียภาษีและกำหนดกรอบเวลาในการบังคับใช้ โดยที่ผ่านมาทางสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ทำหนังสือขอเลื่อนการใช้บังคับมาตรฐานบัญชีดังกล่าวออกไป 3 ปี แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากทางสภาวิชาชีพบัญชีแต่อย่างใด

 

 

ขณะที่ความท้าทายและโอกาสที่เป็นปัจจัยเสริมช่วยธุรกิจประกัน เช่น การลงทุนประกอบธุรกิจอื่น โดยเพิ่มเพดานการลงทุนจากเดิม 15% เป็น 30% ซึ่งในแง่การปรับตัวในมุมมองของสินค้า เมื่อเห็นทิศทางดอกเบี้ยตํ่า บริษัทประกันชีวิตต้องเปลี่ยนและเน้นขายสินค้าที่เป็นความคุ้มครอง ที่ส่วนใหญ่ทุนประกันสูง แต่เบี้ยจะถูกกว่าประกันออมทรัพย์ ทุกคนจะหันไปเน้นขายสัญญาเพิ่มเติม เช่น ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ ซึ่งข้อดีประชาชนตระหนักถึงค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นทุกปี สัญญาเพิ่มเติมที่มีการชดเชยรายได้รายวัน หรือประกันบำนาญ และการประกันชีวิตระยะยาว

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563