แบงก์ชาติฟันธง เศรษฐกิจไทยยังไม่นิ่ง

20 ก.พ. 2563 | 03:00 น.

ธปท.เตรียมทบทวนจีดีพีปี 63 ใหม่มี.ค.นี้ หลังโดนปัจจัยลบรุมเร้า ด้านรัฐบาลลุ้นหยุดยาว 9 วัน หนุนเที่ยวในประเทศประคองเศรษฐกิจ นักวิชาการติงไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ชี้คนระดับกลางได้ประโยชน์ แนะจ่ายเงินลงบัตรสวัสดิการหัวละ 2,000 บาท แทน สศค.เตรียมเสนอแผนกระตุ้นท่องเที่ยว ให้รมว.คลังพิจารณา 19 ก.พ.นี้

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการออกมาระบุว่า จะทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใหม่ในเดือนมีนาคม หลังจากในรอบการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัว 2.8% แต่จากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ขณะสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเองได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เหลือ 1.5-2.5% จากประมาณการเดิม 2.7-3.7%

นายวิรไทระบุว่า ขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง ทั้งไวรัสโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดอยู่ ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการ เพื่อช่วยลดผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ส่วนภาคท่องเที่ยวควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว แก้ปัญหาระบบขนส่งมวลชน หรือสนามบินและบริการแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้ความสามารถดีขึ้นเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะใช้โครงการชิมช้อปใช้ 4 เข้ามากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม ต่อเนื่องถึงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเลยไปยังเดือนมิถุนายน โดยเพิ่มวันหยุดให้นานขึ้นจากทุกปีช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันแรงงาน จะมีวันหยุดสูงสุดอย่างน้อย 5 วัน  แต่จะให้เพิ่มเป็น 9 วัน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินจากการจับจ่ายลงสู่ระบบมากขึ้น

 วิรไท สันติประภพ  

 

 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กลับมองว่า การประกาศหยุดยาว 9 วันไม่ใช่ทางออกในการกระตุ้นให้คนใช้จ่ายเงินเพื่อท่องเที่ยว เพราะภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ ประชาชนยังไม่มีความรู้สึกอยากใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว โดยเฉพาะประชาชนระดับฐานราก การหยุดยาวจะมีผลต่อประชาชนในระดับกลางเท่านั้นและส่วนใหญ่จะวางแผนเที่ยวต่างประเทศมากกว่า หากมีวันหยุดยาวต่อเนื่องร่วม 10 วันแบบนี้

ดังนั้นแนวทางที่ควรทำควบคู่ไปกับการเพิ่มวันหยุดคือ กระตุ้นให้ประชาชนระดับฐานรากได้เงินจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มี 14.6 ล้านคนก่อน อย่างน้อยคนละ 2,000 บาท เพื่อเป็นเงินเริ่มต้นในการใช้จ่ายเพื่อออกเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีโดยรวมต่อการบริโภคในประเทศมากกว่า แต่ก็เท่ากับรัฐต้องอัดงบประมาณลงไปเกือบ 30,000 ล้านบาท

 

ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า หากจะใช้งบประมาณใส่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามข้อเสนอของทีดีอาร์ไอก็ย่อมทำได้ และเชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่ายได้จริง แต่จุดประสงค์หลักขณะนี้คือ ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ดังนั้นควรกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยกับภาคการท่องเที่ยวจริงๆ มากกว่า โดยเฉพาะภาคการโรงแรม และผู้ประกอบการท่องเที่ยวอื่นๆ โดยสศค.จะเสนอมาตรการไทยเที่ยวไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยเร็วที่สุด

เชื่อว่ามาตรการที่จะออกมา จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ขยายตัวได้ ซึ่งเดิมคาดว่าผลกระทบไวรัสจะจบใน 3 เดือน หากยืดเยื้อไป เราจะทบทวนจีดีพีปีนี้ใหม่ และจะประกาศอย่างเป็นทางการเดือนเมษายน” 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563