เปิดโมเดล Dee Money จากสตาร์ตอัพ สู่เวทีโลก

18 ก.พ. 2563 | 23:40 น.

การโอนเงินระหว่างประเทศแต่ละปีที่มีมูลค่าถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้อัศวิน พละพงศ์พานิชประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท สวัสดีช้อป จำกัด บริษัทแม่ของ DeeMoney มองเห็นโอกาส จึงเป็น non-bank แห่งแรกของประเทศที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศและแลกเงินตราต่างประเทศ

อัศวินเปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ตลาดโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งโอนเข้าและออกเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่ยังเป็นตลาดที่คนยังมองไม่เห็นว่า ไทยใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่มีการโอนเงินอย่างถูกต้องถูกช่องทาง แต่ยังมีการโอนเงินผ่านชายแดนอีกมาก คาดว่ามูลค่าจะหลายเท่าที่เป็นการโอนใต้ดินไม่ถูกกฎหมาย

DeeMoney เป็นสตาร์ตอัพ ฟินเทคที่ได้รับอนุมัติจากธปท.ในปี 2561 เริ่มต้นจากการโอนเงินระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะเห็นว่า เป็นตลาดแรงงานสำคัญ มีคนกัมพูชากว่า 1 ล้านคนที่อยู่เมืองไทย แต่ตลาดนี้ค่อนข้างยาก เพราะความรู้ความเข้าใจของตลาดยังน้อย และการที่เป็นตลาดแรงงาน ทำให้เข้าถึงยากและชินกับระบบใต้ดิน คือใช้วิธีการโอนผ่านชายแดนโดยไม่ผ่านธนาคารหรือบางครั้งก็เป็นการโอนผ่านตัวแทนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการที่เราจะเปิดสาขาทั่วเมืองไทยก็ไม่คุ้ม และจะลงทะเบียนทุกโรงงานก็ไม่ง่ายเช่นกัน ตลาดนี้จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก

ดังนั้นเราจึงต้องหันไปหาตลาดอื่นๆ และพัฒนาต่อยอด โดยใช้เวลากว่า 2 ปีในการวางระบบร่วมกับพันธมิตรทั่วโลก ทำให้สามารถขยายบริการได้เพิ่ม 17 ประเทศในปีที่แล้ว และล่าสุดได้เปิดบริการ DeeNext ซึ่งเป็นบริการโอนเงินที่ถูกมาก โดยคิดค่าธรรมเนียมเพียง 250 บาทต่อครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโอนตั้งแต่ 1,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 8 แสนบาทต่อคนต่อวัน โดยรับประกันว่า จะได้รับเงินในวันรุ่งขึ้นของวันทำการ ถ้ารุ่งขึ้นไม่ได้รับจะคืนเงินให้เต็มจำนวนพร้อมค่าธรรมเนียม นอกจากนัั้นยังรับประกันด้วยว่า เงินปลายทางจะได้รับเต็มจำนวนเท่ากับรายการโอน หรือที่เรียกว่า Full Credit Account จึงไม่มีความเสี่ยงว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น

เปิดโมเดล Dee Money จากสตาร์ตอัพ สู่เวทีโลก

อัศวิน พละพงศ์พานิช

 

ปัจจุบันการโอนผ่านธนาคาร จะใช้ระบบที่เรียกว่า Swift หรือที่เรียกว่า TT (Telegraphic Transfer) ซึ่งระบบจะไม่รับประกันจำนวนเงินรับปลายทางว่าจะเท่าไหร่ ซึ่งลูกค้าไม่ได้มากหรือน้อยกว่าที่โอน แต่อยากได้เต็มจำนวนตามที่โอน เพราะมันมีบางรายที่เขาจะต้องโอนไปชำระค่าบิล จ่ายค่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ซึ่งจะไม่สามารถจ่ายได้ หากบิลไม่ตรงกัน ดังนั้นบริการเราจะรับประกันว่า จ่ายตามจำนวน ถึงตามจำนวน ไม่มีการหัก

หลังจากที่บริษัทเปิดบริการ DeeNext ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้สามารถเปิดตลาดเพิ่มจาก 17 ประเทศเป็น 35 ประเทศทั่วโลกภายใต้ 20 พันธมิตรทั่วโลก ครอบคลุมทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และช่วงเปิดตัวไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ยังลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือเพียง 125 บาทเท่านั้น โดยลูกค้าหลักๆ จะเป็น 1.นักท่องเที่ยวที่มาไทย แต่ไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถโอนเงินได้เพียงแค่โหลดแอพพลิเคชัน ไม่ว่าธนาคารไหนก็ใช้ได้ เพราะเราใช้คิวอาร์โค้ด รับลูกค้าได้ทุกธนาคาร 2.คนไทยหรือต่างชาติที่อยู่เมืองไทย มีบัญชีธนาคาร แต่ต้องการส่งเงินกลับประเทศ ที่อาจจะเป็นการจ่ายบิล ค่ารถ ค่าบ้าน ค่าเรียนลูก หรือเป็นเงินออม ซึ่งกลุ่มนี้ จะมาบ่อย มาทุกเดือนและเป็นสัดส่วนใหญ่สุด และอีกกลุ่มเป็นธุรกิจ แต่ยังเป็นเอสเอ็มอีหรือบุคคล ที่ต้องการจ่ายค่าสินค้าในต่างประเทศ และต้องการประหยัดต้นทุนได้ แต่ที่ยังไม่มีคือ ลูกค้าระดับคอร์ปอเรต ที่จะมีการโอนเงินในระดับ 10 ล้านบาท 20 ล้านบาท เพราะกฎหมายให้เราทำได้สูงสุดแค่ 8 แสนบาทต่อคนต่อวันเท่านั้น

 

อัศวิน” กล่าวต่อว่า บริษัทที่ได้ใบอนุญาตเหมือนเราในไทยมีแค่ 5 บริษัท แต่ยังไม่มีใครพัฒนาระบบเอง ซึ่งเป็นข้อจำกัด เพราะการที่เราพัฒนาและสร้างระบบเอง ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับตลาดโลกได้เร็ว โดยอาศัยจากพื้นฐานเดิมที่ขายบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า จะมีบริษัทรับแลกเงินเห็นโอกาสและเข้ามาในตลาดนี้ แต่ก็ยังมีบริษัทรับแลกเงินรายเล็กๆ ที่มีกว่า 1 พันราย อาจจะไม่คุ้มในการที่จะลงทุนระบบที่ใช้ทุนมาก ก็อาจจะเป็นพันธมิตรที่เราจะแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนได้ หากธปท.เปิดทางให้ทำได้

คนที่จะเข้ามาในตลาด ผมไม่ได้คิดจะเป็นคู่แข่ง ผมอยากให้ระบบเราไปวางหลังบ้านของคู่แข่ง แล้วโตไปด้วยกัน เพราะถ้าเขาโต เราก็โตด้วย ตอนนี้มันเป็น ecosystem ต้องช่วยทุกคนให้เติบโตไปด้วยกัน

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563