คลังฉีดยาแรงกระตุ้นลงทุนแสนล้าน

29 ม.ค. 2563 | 11:30 น.

คลังกระตุ้นลงทุน 1.1 แสนล้าน ผ่านมาตรการภาษีและสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า หวังกระตุ้นจีดีพีโตได้ 0.25% ด้านขุนคลังยันมั่นเหมาะ ใช้งบไม่สะดุด แม้งบปี 63 ล่าช้ากว่ามีนาคม 2563 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2563 ซึ่งถือเป็นมาตรการพิเศษที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นยาแรงเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ โดยให้มากถึง 3 ต่อคือ ต่อที่ 1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ต่อที่ 2 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และต่อที่ 3 มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

ประกอบด้วย มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 250% หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งและลงทุนในเครื่องจักร เพื่อให้เช่าเครื่องจักรนั้นแบบลีสซิ่ง โดยให้หักรายจ่าย 100% แรก หรือ 1 เท่าแรกของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรกำหนด และทยอยหักรายจ่ายส่วนเพิ่มเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2563

 

มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ปัจจุบันเครื่องจักรส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่แล้ว มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าในครั้งนี้จะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรส่วนที่เหลืออีก 146 รายการ โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องเป็นของที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และจะต้องนำไปใช้ในการประกอบกิจการของผู้นำของเข้าเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการจัดจำหน่ายหรือใช้ในบ้านเรือนระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ หรือซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ปีที่ 1-2 อัตรา 2% ปีที่ 3-5 อัตรา 4% วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2563 พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากธสน. เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม Front-end-Free ฟรีค่าธรรมเนียมคํ้าประกัน บสย. 4 ปี 

 

นอกจากนั้น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ยังมีสินเชื่ออัตราพิเศษอีกมากกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) กลุ่มธุรกิจ New S-Curve หรือธุรกิจที่เป็น Supply Chain ธุรกิจเกษตรแปรรูป และธุรกิจ Robotics 

 

“เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่กว่า 110,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.25% ส่วนมาตรการสินเชื่อจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้า ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น”

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า จะไม่เกิดการสะดุดในการใช้จ่ายงบประจำหรือเงินเดือนของข้าราชการอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้นายวิษณุ เครืิองาม รองนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางในการใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 หากไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันในเดือนมีนาคม 2563 ตามที่กำหนดไว้ ส่วน
งบลงทุนที่ผูกพันไว้ก่อนปีงบ ประมาณ 2563 ก็ยังสามารถดำเนินการลงทุนได้ตามแผนปกติ ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3544 วันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2563