สศค. ปรับลดเป้าจีดีพีปี 63 เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิม 3.3%

29 ม.ค. 2563 | 06:59 น.

โคโรนา-งบปี63 ล่าช้า ป่วน ทำสศค.ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิม 3.3% แต่ยังมั่นใจปีนี้ดีกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 2.5% เหตุลงทุนเอกชนเป็นพระเอกช่วยหนุนและส่งออกฟื้นเป็นบวกเล็กน้อย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาดจะขยายตัวได้ 3.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมาไทยหายไป 2 ล้านคนในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ หรือเฉลี่ยเดือนละ 800,000 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ยคนละ 50,000 บาทด้วยกัน อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการคลังจะมีมาตรการออกมาเพื่อดูแล จึงคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวโดยรวมในปีนี้ จะหายไปเพียง 400,000 คน หรือเหลือเพียง 41.1 ล้านคน จากเดิมคาด 41.5 ล้านคน  

สศค. ปรับลดเป้าจีดีพีปี 63 เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิม 3.3%

รวมถึงการบังคับใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้า เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำของปีก่อนหน้าไปพลางก่อนได้  ซึ่งปัจจุบันใช้ไปประมาณ 30% แล้ว และสามารถใช้งบลงทุนผูกพันจากปีก่อนหน้าได้ แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งบลงทุนใหม่ให้เข้าสู่ระบบได้ตามที่คาดการณ์ไว้ 
 

อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบไป จะเป็นส่วนสำคัญในการชดเชยการลงทุนภาครัฐที่หายไปในช่วงแรกของปีงบประมาณ  2563 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากไม่มีผลกระทบจากไวรัสโคโรนา และงบประมาณที่ล่าช้า มาตรการดังกล่าวจะดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3.05% ประกอบกับการส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 1% ดีขึ้นกว่าปี 2562 ที่ติดลบ 3.2% เนื่องจากสัญญาณสงครามการค้าจีน-สหรัฐ มีแนวโน้มดีขึ้น แม้ว่าจะมองว่าค่าเงินบาทในปีนี้จะยังแข็งค่าต่อเนื่องเฉลี่ย 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 31.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สศค. ปรับลดเป้าจีดีพีปี 63 เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิม 3.3%

“สศค.ยังยืนยันเศรษฐกิจปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีก่อนแน่นอน โดยปี 2562 จีดีพีขยายตัวเพียง 2.5% ลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ 2.8% เพราะการส่งออกติดลบกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เพราะปีนี้ปัจจัยบวกหลายอย่างดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจากความรู้สึกในช่วงต้นปีนี้จะมีปัจจัยหลายอย่างมากระทบ แต่โดยรวมจะดีกว่าปีก่อนแน่”นายลวรณ กล่าว

สำหรับการบริโภคภารรัฐปีนี้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 1.9% ขณะที่การลงทุนภาครัฐในปีนี้จะขยายตัวได้ 6.5% สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 2.1% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะอยู่ที่ 4.2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.4% เพราะภาครัฐเน้นกระตุ้นการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการลงทุน PPP มากขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนปีนี้จะขยายตัวเพียง 3.2% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 4.4% ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการชิมช้อปใช้ 4 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้