ผวา! เศรษฐกิจทรุด งบล่าช้า ท่องเที่ยวหด

29 ม.ค. 2563 | 07:00 น.

นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียงเศรษฐกิจไทยเจอ 2 เด้ง ทั้งงบประมาณล่าช้า รายได้ท่องเที่ยวหาย จากการระบาดไวรัสโคโรนา ชี้เป็นโจทย์ใหญ่กนง. 5 ก.พ.นี้ อาจมองการลดดอกเบี้ยอีกครั้ง หวั่นไตรมาสแรกฉุดจีดีพีทั้งปี 63

เปิดปีหนูทอง 2563 มาไม่ถึงเดือน ปัจจัยที่เคยกดดันเศรษฐกิจปีก่อนคลี่คลายลง ทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แต่เศรษฐกิจไทยกลับต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ที่เคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีก่อนคือ ความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 และการระบาดของไวรัสโคโรนาในจีน ซึ่งจะกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศ เพราะจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทย ดังนั้นเมื่อ 2 เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งแรกของปีในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจทีเอ็มบี (TMB analytics) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยขณะนี้คือ การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่อาจชะลอตัวจากเดิม ซึ่งทีเอ็มบีประเมินจีดีพีปีนี้จะเติบโต 2.7% โดยการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 6.5% แต่อาจต้องปรับเหลือ 4% หากงบประมาณล่าช้าไปถึงเดือนมีนาคม และการลงทุนเอกชนคาดว่าจะเติบโตได้ 2.5% จากปีก่อน 4%

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเดิม เพราะซํ้าเติมเหมือนโดน 2 เด้ง ทั้งเรื่องงบประมาณดีเลย์และไวรัสแพร่ระบาด ซึ่งทั้งโครงการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว เป็นเครื่องยนต์หลักที่จะผลักดันจีดีพีทั้งปีให้เติบโตได้ 2.7% แม้ว่าการลงทุนภาครัฐจะมีสัดส่วน 5% ของจีดีพี แต่โครงการลงทุนหลักจะเป็นลักษณะ PPP ซึ่งหากงบประมาณภาครัฐบางอันใช้ไม่ได้ จะกระทบบางโครงการที่เอกชนร่วมลงทุน จะดึงกันไปทั้งคู่ ดังนั้นการลดดอกเบี้ยนโยบายจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

ผวา! เศรษฐกิจทรุด งบล่าช้า ท่องเที่ยวหด

เชาว์ เก่งชน

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจน่ากังวลมากขึ้น หากไม่สามารถขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (...) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ภายในกรอบเวลาเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ซึ่งทางการจะต้องเร่งสปีดในช่วงท้ายของปี ที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะถ้างบประมาณปี 2563 ดีเลย์ไปเดือนพฤษภาคม ซึ่งเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี หากประเมินจากวงเงินเบิกจ่าย 3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าดีเลย์ออกไปหลายเดือน จะทำให้ขาดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และหากนโยบายการคลังยังไม่คืบหน้าจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ อาจจะเป็นปัจจัยให้กนง.ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

 

ผวา! เศรษฐกิจทรุด งบล่าช้า ท่องเที่ยวหด

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ภาพความเสี่ยงของไวรัสโคโรนา ทำให้ในระยะสั้น ภาพตลาดการเงินฝั่งเอเชียน่าจะเป็นลบทั้งหมดจากความกลัวของนักลงทุน ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงก็ยังไม่น่าสนใจเมื่อเทียบกับโอกาสการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะชะลอลง โดยเฉพาะเงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในเอเชียตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งเกิดจากภาพเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่น และยังมีแรงขายเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถ้ายังมีแรงขายต่ออาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงได้อีก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า ทั้งปัจจัยงบประมาณรายจ่ายประ่จำปี 2563 และ ความเสี่ยงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะหายไป น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยมีผลแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คือ ผลกระทบอย่างน้อย 1 ไตรมาสหรืออย่างมากครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งจะเห็นการเร่งเครื่องยนต์เหล่านี้ในครึ่งปีหลัง แต่การเลื่อนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจออกไปครึ่งปีหลัง ทำให้ครึ่งแรกของปีขาดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะไตรมาส 1 น่ากังวลที่สุด เพราะเป็นช่วงเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้ งบลงทุนภาครัฐมีความเสี่ยงจะติดลบ โดยรวมเดิมทีประเมินจีดีพีไตรมาส 1 จะขยายตัวได้ 2% เศษ

 

ดังนั้น ความล่าช้าในการผ่านงบประมาณและไม่เห็นการฟื้นตัวของภาคส่งออก จึงมีความเสี่ยงที่จะปรับประมาณการลง แต่รอดูข้อมูลอีกสักระยะ ถ้าไม่สามารถหยิบมาตรการทางการคลังออกมาใช้ ก็จะเหลือเฉพาะเครื่องมือทางการเงิน แต่ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งจะผ่อนคลายมาตรการกำกับอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ซึ่งยังไม่เพียงพอจะประคองเศรษฐกิจ สิ่งที่จับตาในวันศุกร์ที่ 31 มกราคมนี้ ธปท.จะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งต้องรอดูธปท.ว่า มีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไร

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดประเมินจีดีพีปีนี้ของไทยว่า จะขยายตัว 3% กรณีที่รัฐสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่หากเกิดเหตุล่าช้าออกไป อาจทำให้จีดีพีไทยเติบโตเท่ากับปีก่อนคือเพียง 2.5% แม้ผลกระทบจากท่องเที่ยวจะยังไม่ชัดเจน แต่ยอมรับว่า มีความกังวลมากขึ้น  

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,544 วันที่ 30 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ 2563