แบงก์ลุยขายประกันเพิ่มรายได้ค่าต๋ง

27 ม.ค. 2563 | 23:45 น.

แบงก์ประเมินเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ เบนเข็มลุยขายประกัน บริหารมั่งคั่ง หนุนรายได้ค่าธรรมเนียมโต หลังปิดงบปี 62 ฟันกำไรสุทธิจากเงินลงทุนเพิ่ม 85% ก่อนเริ่มใช้ TFRS9 พบ 7 แบงก์ผลประกอบการเพิ่ม อีก 3 ค่ายรายได้ลด เหตุตั้งสำรองป้องหนี้เสีย

 

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง รายงานผลประกอบการประจำปี 2562 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 1.71 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.52% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.65 แสนล้านบาท โดยธนาคารที่ทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากรายการพิเศษ นำโดย บมจ.ซีไอเอ็มบีไทย 21,657.8% หรือ 216 เท่า บมจ.กรุงศรีอยุธยา 31.98% จากการบันทึกกำไรการขายหุ้น 50% ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด บมจ.ทิสโก้ 3.64% จากการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุน และบมจ.ไทยพาณิชย์ 0.92% จากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตฯ

นอกจากนั้นธนาคารที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งยังมาจากรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นผลจากกำไรสุทธิจากการลงทุน เพิ่มขึ้นกว่า 85% นำโดยบมจ.กรุงศรีอยุธยา เพิ่มขึ้น 2,368.23% บมจ.ซีไอเอ็มบีไทย 1,663.26% บมจ.กรุงไทย 9.6% บมจ.กรุงเทพ 146% และบมจ.ไทยพาณิชย์ 83%

อาทิตย์ นันทวิทยา

 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า ธนาคารทยอยขายสินทรัพย์ เพื่อทำกำไรเมื่อเงินลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 83% ซึ่งรวมกับการขายหุ้นในบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตฯ กว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยขาลงและอยู่ในระดับตํ่ามาก หากถือหุ้นในบริษัทประกัน จากปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะประสบปัญหาการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ต้องสะท้อนราคาตลาด ประกอบกับหลายคนได้รับผลกระทบจากผลตอบแทน (ยีลด์) ที่ลดลงในสินทรัพย์ที่มี ขณะที่ฝั่งหนี้สินมีภาระดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับสูง

 

ดังนั้นสิ่งที่จะเติบโตจะมีจาก 3 ส่วนคือ 1.รายได้ค่าธรรมเนียม แม้จะถูกกดดันจากค่าธรรมเนียมหรือฐานลูกค้าเอสเอ็มอี แต่เห็นโอกาสรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะมาจากประกันกับเวลธ์ 2. เพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานบริการ ทำหน้าที่ขายโปรดักต์เพิ่มรายได้กับธนาคาร และพยายามลดค่าใช้จ่ายหน้าสาขาลง และ 3. คุณภาพสินทรัพย์จากการกันสำรองในระดับสูง โดยทั้ง 3 ตัวจะทำให้เกิดผลประกอบการ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถควบคุมต้นทุนได้ ส่วนรายได้และคุณภาพสินทรัพย์ขึ้นกับเศรษฐกิจภาพใหญ่

“พูดแบบนี้ เพราะเศรษฐกิจยังทรงตัว แต่ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น เราจะเป็นคนได้ประโยชน์จากสิ่งที่ทำเต็มที่ แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่กว่านี้ เชื่อว่าเราจะไม่อยู่ในสถานการณ์คับขัน ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัว ธุรกิจที่ลิงก์กับเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบทั้งรายย่อย เอสเอ็มอีและภาคเกษตร ซึ่งยุทธศาสตร์รายได้ค่าธรรมเนียมจะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนรายได้ปีนี้ โดยตั้งเป้าโต 7-10%”

แบงก์ลุยขายประกันเพิ่มรายได้ค่าต๋ง

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า  ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นปีแรก หลังเข้าโครงการปรับปรุงธนาคารเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเป็นกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจหลัก ไม่ได้ขายทรัพย์สินหรือหนี้เสียแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นไฮไลต์คือ รายได้จากค่าธรรมเนียมสูงถึง 3,125 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการขายผลิตภัณฑ์การลงทุน เช่น กองทุน ประกัน ซึ่งเฉพาะธันวาคมมีเบี้ยรับปีแรก 250 ล้านบาทจากปกติ 80-100 ล้านบาทเท่านั้นและหุ้นกู้ โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับตํ่าและคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.00% จะเป็นปัจจัยเอื้อให้ลูกค้าเงินฝากและกลุ่มค้ามั่งคั่งต้องการเข้ามาลงทุนกับธนาคารอีกมาก

 

 

สำหรับปี 2563 คาดหวังรายได้จากค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุน 559 ล้านบาท แบงก์ แอสชัวรันซ์ 1,679 ล้านบาทและ Treasury อีก 1,110 ล้านบาท ซึ่งโตเกือบเท่าตัวจากปีก่อน ส่วนสินเชื่อรวมเติบโต 11.8%

“ถ้าเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดีตามคาดและสินเชื่อไม่โต แต่ธุรกิจผมมี 2 ขาที่สมดุลคือ ธุรกิจรายย่อยที่มีสินเชื่อบุคคล เจาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และส่วนของการลงทุน กลุ่มลูกค้าเวลธ์ ซึ่งจะมาช่วยเรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ และผมมีหน่วยงานค้าเงินตราต่างประเทศหรือ Treasury ซึ่งเชื่อมโยงกับกองทุน หุ้นและหุ้นกู้ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีด้านการค้า การลงทุนยังเติบโต และยังมีลูกค้านิติบุคคลทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีที่สนใจไปลงทุนต่างประเทศ”

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทยให้ความเห็นว่า ทิศทางตลาดที่ราคาพันธบัตรค่อนข้างสูง ประกอบกับสภาพคล่องส่วนเกิน จึงมีการขายเพื่อทำกำไรพันธบัตรและขายสินทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์ออกมา ซึ่งการลงทุนเชิงกลยุทธ์(Strategic Investment)ของธนาคารนั้น อาจมีประเด็นมาตรฐานบัญชี TFRS9 สำหรับหลักทรัพย์ที่เป็นการลงทุน Strategic ซึ่งจะต้องตีมูลค่าตลาดและการกันสำรอง

“แนวโน้ม ถ้าแบงก์ปล่อยสินเชื่อน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องดำรงสภาพคล่องส่วนเกินมาก ประกอบกับราคาบอนด์ค่อนข้างสูง จึงเห็น แบงก์ทยอยขายสินทรัพย์หรือบอนด์เพื่อทำกำไรออกมา”

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563