ระส่ำ!งบติดล็อก เหลือ3แสนล้าน‘อุตตม’ถกด่วนขยายเพดาน75%

25 ม.ค. 2563 | 04:20 น.

งบประมาณปี 63 ป่วนหนัก ติดล็อกเพดาน 50% ของงบประจำเหลือใช้แค่ 3 แสนล้าน “อุตตม” นำทีมถก 4 หน่วยงาน เสนอครม. อนุมัติด่วน 28 ม.ค.นี้ ขยายเพดานกรอบการใช้วงเงินพลางก่อนเป็น 75% สำนักงบฯ-คลังยันไม่เกิดเหตุการณ์ shutdown

ผลพวงจากการเสียบบัตรแทนกันของส.ส.ในการลงมติรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 กำลังทำให้รัฐบาลเสี่ยงชัตดาวน์ จากการไม่มีเงินบริหารประเทศ ซึ่งตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้อำนาจผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณไปพลางก่อนได้ กรณีที่พ.ร.บ.งบประมาณในปีนั้นๆ ยังไม่ประกาศใช้ 

ก่อนหน้าสำนักงบประมาณได้ขยายวงเงินการใช้งบไปพลางก่อน เพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณปี 2563 ล่าช้า โดยกำหนดการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากร รายจ่ายบูรณาการ งบเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเงินทุนหมุนเวียน รายจ่ายงบกลาง และงบลงทุนที่มีการทำสัญญาและผูกพันงบประมาณไว้แล้ว ยกเว้นงบลงทุนใหม่ ได้ไม่เกิน 50% หรือครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายแต่ละรายการในปีงบประมาณ 2562

ทั้งนี้งบประมาณปี 2562 กำหนดกรอบวงเงินรวม 3 ล้านล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 2,272,656.3 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 78,205.5 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 649,138.2 ล้านบาท เมื่อรวมงบประมาณที่ใช้ได้ตามหลักเกณฑ์การใช้งบไปพลางก่อน หักงบลงทุนใหม่ที่ยังไม่มีการทำสัญญาหรือก่อหนี้ผูกพัน 1 แสนล้านบาท จะมีวงเงินที่ใช้ไปพลางก่อนได้ 1.3-1.4 ล้านล้านบาท แต่ช่วงที่งบปี 2563 ไม่สามารถบังคับใช้ได้ มีการใช้วงเงินไปแล้วราว 1 ล้านล้านบาท จึงเหลือวงเงินเพียง 3-4 แสนล้านบาท ที่จะได้ไปจนถึงประมาณเดือนเมษายนเท่านั้น 

 

ถกด่วนขยายเพดาน 75%

วันเสาร์ที่ 25 มกราคมนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังจะเรียกประชุมร่วม 4 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ขยายวงเงินการใช้งบประมาณไปพลางก่อนเป็น 75% โดยจะนำเสนอ ครม.ในวันอังคารที่ 28 มกราคมนี้  เพราะหากขยายกรอบวงเงินการใช้งบประมาณไปพลางก่อนจาก 50% เป็น 75% ก็จะมีงบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท 

นอกจากการขยายเพดานการใช้งบไปพลางก่อนแล้ว สำนักงบประมาณยังมีแนวคิดในการเพิ่มกรอบวงเงินการใช้งบไปพลางก่อน ด้วยการนำรายการงบประมาณของปี 2562 และงบประมาณปี 2563 ในแต่ละรายการมาเปรียบเทียบกันเพื่อดูว่ามีรายการใดในงบปี 2562 และงบปี 2563 ตรงกันบ้าง เพื่อให้งบรายการดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์การใช้งบไปพลางก่อนเพิ่มขึ้น

 

ยันไม่กระทบเงินเดือนขรก.

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณกล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยจะไม่เกิดเหตุการณ์ shutdown จากการไม่มีงบประมาณใช้ หากงบประมาณปี 2563 ไม่สามารถจัดทำได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็สามารถใช้งบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อนได้ โดยมาตรา 12 กำหนดสาระสำคัญของการใช้งบประมาณไปพลางก่อนนั้น สำนักงบประมาณจะออกหลักเกณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี โดยจะจัดสรรตามงบประมาณที่ได้ขอไว้ตามงบประมาณปี 2562 อนุมัติงบประมาณไม่เกินกึ่งหนึ่ง หรือครึ่งหนึ่งของงบประมาณปี 2562 เพื่อให้ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีปัญหาเรื่องเงินเดือน งบประจำ และงบลงทุนที่ทำสัญญาแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปได้

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวยืนยันว่า ความล่าช้าของงบประมาณ จะไม่กระทบกับการจ่ายเงินเดือนข้าราชการแน่นอน เพราะบางส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำ สามารถใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2562 ไปพลางก่อนได้ แม้ว่าตามกฎหมายจะให้ใช้เพียง 50% ของงบประมาณรายจ่ายในปีก่อนก็ตาม  ซึ่งสำนักงบประมาณกำลังดูอยู่ว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้ทุกอย่างสะดุด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา คงยังไม่สามารถพูดก่อนได้ แต่ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และจะต้องดูอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องระเบียบ กฎหมาย แหล่งที่มาของเงินด้วย” นายอุตตมกล่าว

ระส่ำ!งบติดล็อก  เหลือ3แสนล้าน‘อุตตม’ถกด่วนขยายเพดาน75%

 

เอกชนชี้โปรเจ็กต์ใหม่ชะงัก

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุว่า งบประมาณปี 2563 ล่าช้ามา4 เดือน หากต้องล่าช้าไปอีกจากปัจจัยเสียบบัตรแทนกันของส.ส.เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะปัจจุบันมีหลายโครงการสร้างเสร็จ แต่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ แม้จะส่งมอบตรวจรับงานแล้ว บางโครงการค้างมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า หากงบปี 2563 ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่จากเหตุไม่คาดฝัน โครงการที่ได้รับผลกระทบจะเป็นโครงการเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้าง งบประมาณผูกพันมาถึงปีนี้ ส่วนโครงการใหม่ที่ได้รับผลกระทบ อย่างโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) 3 โครงการคือ สายสีแดงช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 1 ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ที่ต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม โครงการละ 10 ล้านบาท โครงการเบิกจ่ายวงเงินเวนคืน เพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, โครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-นครพนม ขณะทางหลวง โครงการใหม่ ได้แก่ ทางยกระดับ พระราม 2-มหาชัย ส่วนโครงการที่เป็นงบผูกพันมาถึงงบปี 2563 ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และ มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช ส่วนรถไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้เงินกู้และใช้รูปแบบเอกชนร่วมลงทุน รัฐจะชำระหนี้ต่อเมื่อโครงการเปิดให้บริการแล้วเช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง- ชมพู เปิดให้บริการปี 2564 แต่ประเมินว่างบประมาณปี 2563 จะสามารถเดินหน้าต่อได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างหาทางออก 

ด้านนางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดี กรมบัญชีกลางกล่าวว่า เอกชนที่ยังไม่ได้รับเงินงบประมาณแม้ว่าจะดำเนินโครงการเสร็จแล้ว น่าจะเป็นปัญหาในหน่วยงานต้นสังกัดที่เป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งต้องไล่ดูแต่ละโครงการ ส่วนแผนรับมือความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 นั้น กรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือถึงส่วนราชการตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยอนุญาตให้ส่วนราชการที่มีงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถดำเนินการล่วงหน้าได้ ทั้งการออกหนังสือเชิญชวนให้เอกชนร่วมประมูลงาน(ทีโออาร์) การคัดเลือกจนได้ผู้ชนะ เพื่อว่าเมื่องบประมาณมีผลบังคับใช้จะได้ลงนามสัญญาทันที ไม่ต้องรอจนกว่างบประมาณจะผ่าน เพราะจะทำให้กระบวนการล่าช้าออกไปอีก

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563