บอนด์ระยะยาวมาแรง แห่ออกทะลัก 1ล้านล้าน

27 ม.ค. 2563 | 00:21 น.

 

สัมภาษณ์

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน การแสวงหาผลตอบแทนที่ให้ได้ในระดับสูงย่อมเป็นเรื่องปกติ ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ที่ค่อนข้างปลอดภัย ในปีที่แล้วกลับถูกพลิกจากการที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 กันต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆสวนทางกับสินเชื่อธนาคารที่มีสัดส่วนเล็กลง โดย 3 ช่องทางหลักในการระดมเงินทุนมีความสมดุลกันมากขึ้นในปีที่แล้ว คือ สินเชื่อธนาคารสัดส่วนอยู่ที่ 93% ต่อจีดีพี ตลาดทุน 100% และตลาดตราสารหนี้ 81% มีขนาดใกล้เคียงกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่ตราสารหนี้ระยะยาวที่ออกโดยบริษัทเอกชนอยู่ที่ 24% และเงินกู้จากธนาคารอยู่ที่ 37%

 

บอนด์ระยะยาวมาแรง  แห่ออกทะลัก 1ล้านล้าน

ธาดา พฤฒิธาดา

 

ทั้งนี้ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทย ปี 2562 มีการขยายตัวในระดับที่ดีมีมูลค่าคงค้างรวมที่ 13.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.72% จาก 12.79 ล้านล้านบาทในปี 2561 ส่วนตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน มูลค่าคงค้างมีอัตราการขยายตัว 9% จากปีก่อนหน้า โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากพันธบัตรรัฐบาล มาจากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ 94% มีอันดับเครดิตอยู่ในกลุ่ม Investment grade และมี 6% ที่อยู่ในกลุ่ม Under investment grade และ non-rated หรือเรียกว่า High yield bond

ขณะที่ การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ภาคเอกชนมียอดการออกสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน นำโดยการออกของธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมียอดการออกสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 3 เท่า ด้านตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลง ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว P/N)


 

โดยในปี 2562 พบว่าเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ 84,452 ล้านบาท โดยเป็นการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว จำนวน 52,456 ล้านบาท และขายออกสุทธิในมูลค่าที่สูงกว่าในตราสารหนี้ระยะสั้น จำนวน 136,909 ล้านบาท ส่งผลให้ สิ้นปี 2562 นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 991,779 ล้านบาท หรือ 10.49% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดลงจาก 11.86% สิ้นปีก่อน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2562 มีทิศทางการปรับตัวลดลงตลอดทั้งปีในทุกรุ่นอายุโดยเฉพาะในไตรมาส 3/2562 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ลดลง 75 bps อยู่ที่ 1.34% และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ลดลง 100 bps อยู่ที่ 1.43% เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีทิศทางแบนราบลงทั้งเส้น จากนั้นในไตรมาสสุดท้าย ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุต่ำกว่า 10 ปีขยับลงต่อ โดย สิ้นปี รุ่นอายุไม่เกิน 1 ปีปรับตัวลงราว 34-53 bps นับตั้งแต่ต้นปี ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี ปรับลดลง 94 bps จากที่ 2.43% เมื่อตอนต้นปี ลงมาที่ 1.49% เมื่อสิ้นปี 2562”

ด้านทิศทางในปี 2563 บริษัทเอกชนไทยจะยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวประมาณ 850,000 ล้านบาท หลังจากประเมินแล้ว จะมีมูลค่า rollover อยู่ที่ 397,036 - 463,209 ล้านบาท หรือ 60-70% ของยอดครบกําหนดอายุ, การออกใหม่ประมาณ 400,000 ล้านบาท และ First call รวม 57,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันแนวโน้มเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ปี 2563 มองว่ายังคงไหลออกจากตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องจะประมาณ 80,000 ล้านบาท มาจากเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงส่วนต่างผลตอบแทนที่แท้จริงของไทยกับสหรัฐฯต่ำลงมาก นอกจากนี้พันธบัตรจีนเพิ่มน้ำหนักใน GBI-EM index ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้ตราสารหนี้ไทยถูกลดน้ำหนักลง

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563