ผ่อนคลายการคลัง  ความหวังของตลาดการเงิน?

24 ม.ค. 2563 | 07:40 น.

เมื่อธนาคารกลางทั้งหลาย “หยุดลดดอกเบี้ยขณะที่เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับหลากหลายความเสี่ยงนโยบายการคลังจึงถูกเสนอว่า เป็นเหมือนทางออกสุดท้ายของการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก

นักลงทุนอย่างเรา จึงต้องรู้ให้ทันว่า นโยบายการคลังนี้ เป็นเรื่องจริงหรือความฝัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องคิดไว้ก่อนด้วยว่า สินทรัพย์ในตลาดเงินตลาดทุนน่าจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไร

เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สำหรับตลาดการเงินแล้ว นโยบายการคลังมีจุดอ่อนใหญ่คือภาระของภาครัฐ ซึ่งไม่ดีต่อบอนด์ แต่ก็มีจุดแข็งคือการเพิ่มรายได้ภาคเอกชนซึ่งดีกับหุ้น

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

90ไฟลต์จีนทะลักกระบี่

ตระกูลดัง-บ้านโบราณ ไม่สะท้าน ภาษีที่ดิน

เอกชนร้องคนกลุ่มเดียวทำศก.พัง ไตรมาสแรกจ่อไอซียู

เช่นอัดฉีดเศรษฐกิจผ่านการลดภาษี

ข้อเสียที่เด่นนำมาก่อนคือ รายรับของภาครัฐที่จะลดลงทันที และถ้าการเปลี่ยนแปลงของรายได้นี้ นำไปสู่การขาดดุลทางการคลัง (รายจ่ายมากกว่ารายได้) ในที่สุดรัฐอาจต้องกู้เงินเพิ่มจากตลาด สร้างภาระดอกเบี้ยระยะยาว ถ้าเมื่อปริมาณการกู้สูงเกินกว่าที่ตลาดคาดหวัง ความน่าเชื่อถือของรัฐก็จะลดลง นักลงทุนจะถามหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่งผลลบโดยตรงกับการลงทุนในบอนด์

อย่างไรก็ดี การลดภาษีจะทำให้รายได้ของเอกชนเพิ่มสูงขึ้นทันทีด้วยถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว การบริโภค การลงทุนก็อาจปรับตัวขึ้นตามมา ตลาดหุ้นในประเทศมักตอบรับนโยบายลักษณะนี้ในเชิงบวก

เมื่อมองข้อดีข้อเสียในตลาดการเงินปัจจุบันที่ยีลด์อยู่ในระดับตํ่าแทบทุกมุมโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดจะแอบคาดหวังกับนโยบายการคลังไว้สูงเพราะถ้านโยบายการคลังจะหนุนให้หุ้นคึกคักขึ้นแต่ยีลด์สูงขึ้นบ้างก็ดูคุ้มที่จะเสี่ยง

 แต่เมื่อถามว่าที่ไหนสามารถผ่อนคลายเชิงการคลังได้จริงในปีหน้า กลับพบข้อจำกัดหลายอย่างเช่นในฝั่งสหรัฐฯโอกาสที่จะมีนโยบายการคลังต่อเนื่องต้องฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้ง

ผ่อนคลายการคลัง  ความหวังของตลาดการเงิน?

เรื่องนี้คาดเดาไม่ยากเพราะนโยบายการคลังต้องใช้พลังการเมืองอย่างมหาศาล

เช่นในครั้งก่อนที่ทรัมป์สามารถผ่าน Tax Cut and Job Act 2017 ได้ก็เป็นช่วงที่ริพับลิกันคุมเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา ขณะที่ปัจจุบันทรัมป์เสียสภาล่างไปในการเลือกตั้งมิดเทอม แถมตัวเองก็กำลังโดนมติถอดถอนฝั่งพื้นฐานสหรัฐฯ ก็คาดว่าจะขาดดุลการคลังถึง 5% ในปีนี้ ภาระดอกเบี้ยจะพุ่งขึ้นถึงราว 8% ของค่าใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมด

โอกาสที่จะเห็นการลดภาษีต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนจะรู้ผลการเลือกตั้งใหญ่ในปลายปีนี้

ข้ามมาฝั่งเอเชียที่ทำไปแล้วคือญี่ปุ่น ขณะที่จีนดูจะเลือกใช้นโยบายการคลังเป็นหลักประกันเศรษฐกิจ

 

โดยญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่เดียวที่นโยบายการคลังเป็นไปตามความต้องการของตลาด

การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดภาษีและการลงทุนภาครัฐกว่า 26 ล้านล้านเยนหรือราว 1.5% ของจีดีพี คงเป็นแรงหนุนกับตลาดทุนตั้งแต่ปีนี้

แต่จะทำให้การลงทุนในเอเชียคึกคักได้แค่ไหนยังคงเป็นคำถาม

เพราะพี่ใหญ่อย่างจีน มีท่าทีที่จะเก็บนโยบายการคลังไว้ใช้เฉพาะในจังหวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา เพื่อประคองไม่ให้การกู้ยืมทั้งระบบสูงจนส่งผลเสียกับความน่าเชื่อถือ

สิ่งที่เราดูจะคาดหวังได้จากการคลังในทวีปนี้จึงอาจเป็นเพียงตัวช่วยเมื่อเศรษฐกิจแย่ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น 50:50

ส่วนยุโรปเป็นทวีปน่าลุ้นที่สุด แต่ก็มีการเมืองที่ซับซ้อนที่สุดด้วย

เพราะยุโรปคือการหลอมรวมระหว่างเยอรมนีที่เกินดุลการคลังแต่ไม่อยากขาดดุล ฝรั่งเศสที่พร้อมช่วยด้วยการขาดดุลการคลัง 3% แต่ก็กำลังประสบปัญหาการเมืองในประเทศอยู่ ขณะที่อิตาลีอยากกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มแก่แต่กลับมีระดับหนี้สูงกว่ากำหนดของ EU ที่ 60% ไปไกลแล้ว

 

แม้ความหวังที่จะเห็นนโยบายการคลังในยุโรปอาจมากกว่าที่อื่น แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับสูง จนดูจะไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรตั้งเป็นกรณีฐานของปี 2020

ถึงตรงนี้แม้นักการเมืองส่วนใหญ่จะมองนโยบายการคลังเป็นทางออกสุดท้ายของการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ตลาดการเงินก็ฝันอยากเห็นความร่วมมือระหว่างนโยบายการเงินกับการคลังมากที่สุดในช่วงดอกเบี้ยตํ่า

แต่หลายประเทศดูจะยังไม่พร้อมที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ จนอาจสรุปได้ว่า การผ่อนคลายทางการคลังอาจเป็นแค่ฝันที่ดีเกินไปของนักลงทุน

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย: จิติพล พฤกษาเมธานันท์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

ธนาคารกรุงไทย

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563