‘สมคิด’ลั่น! แก้บาทแข็ง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ

20 ม.ค. 2563 | 03:00 น.

สมคิด ยันไม่จำเป็นตั้งแก้บาทแข็งเป็นวาระแห่งชาติ ยํ้าทุุกฝ่ายต้องร่วมมือ ผลักดอลลาร์ออกนอกประเทศ ตลาดมองบาทยังแข็งต่อ เหตุเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แนะรัฐเข็นมาตรการหนุนลงทุนนอก นำเข้าสินค้าทุน หวังลดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลง

 

บาทแข็งยังเป็นโจทย์กััดกร่อนเศรษฐกิจไทย หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 8% ในปีที่ผ่านมา แม้ช่วงต้นปี 2563 จะเห็นการอ่อนค่าลงบ้าง แต่ตลาดยังมองทิศทาง บาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เหตุไทยยังเกินดุลบัญชีสะพัดสูงและต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า บาทแข็งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพราะหากต้องใช้เครื่องมือของธปท.จะต้องเป็นยาแรงและจะมีผลกระทบต่อภาพรวมมากกว่า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่จำเป็นต้องผลักดันให้การแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าเป็นวาระแห่งชาติ เพียงส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันมากขึ้น โดยภาครัฐจะเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ และผลักดันให้เอกชนลงทุนเพิ่ม เพื่อให้เม็ดเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลออกนอกประเทศมากขึ้น ก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

‘สมคิด’ลั่น!  แก้บาทแข็ง  ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

“ไม่ต้องถึงขั้นนั้น แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ รัฐลงทุน เอกชนลงทุนตาม เงินดอลลาร์ก็จะไหลออกไป บาทก็จะอ่อนค่าลงได้ ธปท.ก็ดูแลเสถียรภาพให้เหมาะสม แต่เรื่องพวกนี้อ่อนไหว จะพูดอะไรออกไปก่อนก็ไม่ได้”

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวว่า แนวโน้มปี 2563 เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจากปีก่อน ด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ 1.ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ 2.ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ โดยมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน และ 3. โอกาสที่สงครามการค้าจะเกิดปัญหาระหว่างทาง

“ปัจจัยที่มีผลต่อการอ่อนค่าของเงินบาทคือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาปะทุ หรือเศรษฐกิจในประเทศแย่กว่าตลาดคาด จนธปท.ต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และถึงปัญหาการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นไปได้ที่จะทำให้เงินบาทเคลื่อน ไหวทั้งอ่อนและแข็งค่า สอดคล้องกับที่ธปท.ระบุว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหว 2 ทาง ดังนั้นผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความเสี่ยง ไม่ควรเก็งกำไร”

ทั้งนี้จากการที่พูดคุยในกลุ่มผู้ประกอบการ อยากเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 33-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบจากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปีนี้อยู่ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งหากบาทอยู่ที่ 30 บาทต้นๆ น่าจะยากต่อการทำธุรกิจและไม่เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ซึ่งตลาดยังมองเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อ

 

‘สมคิด’ลั่น!  แก้บาทแข็ง  ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ

 

สอดคล้องกับนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลจากการที่ไทยหลุดจากรายชื่อประเทศบิดเบือนค่าเงิน น่าจะเป็นจังหวะในการแทรกแซงค่าเงินได้
ง่ายขึ้น แต่ธปท.ไม่น่าจะซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เกิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประมาณการจากที่ไทยจะมีปริมาณเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราว 5% ของจีดีพี หรือหากมีการส่งออกและนำเข้าทั้ง 2 ขา แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่น่าจะทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่สูงมากและธปท.มีหน้าตักที่จะเข้าซื้อดอลลาร์ทั้งปีประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ย 1,000-3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (TMB analytics) กล่าวว่า บาทมีแนวโน้มที่่จะแข็งค่าต่อ จากการส่งออกสินค้าสุทธิ ที่มีสัดส่วน 28% และแนวโน้มน่าจะยังเกินดุลในปีนี้ การลงทุนโดยตรง (FDI) ที่มีสัดส่วน 10% ซึ่งสิ่งที่ทำได้เลยคือ กระตุ้นการลงทุนด้วยการนำเข้าเครื่องจักร โดยมีมาตรการแรงจูงใจทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายนำเข้าเครื่องจักรใหม่และสามารถหักภาษีได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นหรือรายใหญ่ ขณะเดียวกันควรมีมาตรการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนไทยไปต่างประเทศ (TDI) รวมถึงกลุ่มประเทศในอาเซียน

“สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่ผู้ประกอบการมองภาพไม่ชัด ทำให้ขาดความเชื่อมั่น จึงไม่กล้าลงทุน ดังนั้นมาตรการเพิ่มแรงจูงใจนำเข้าสินค้าทุน จะไม่ใช่เฉพาะเพื่อบริษัทใหญ่ แต่ควรให้โอกาสบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สามารถหักภาษีหรือมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่”

 

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยรอดจากประเทศที่ไม่แทรกแซงค่าเงิน เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯ นั้น ธปท.ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐฯ ดูตัวเลขแค่กลางปี 2562 แต่ครึ่งปีหลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ธปท.จะมีข้อจำกัดในการเข้าดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าในระยะข้างหน้า

ส่วนแนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจนต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนเครื่องมือในการดูแลหรือไม่นั้น นายนริศระบุว่า ทีเอ็มบีมองครึ่งปีหลัง เงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าเกิน  31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้ายังเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30 บาทเป็นเวลานาน ทางการก็ต้องมีมาตรการทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะมาตรการของธปท.อย่างเดียว เพราะการแข่งขันการค้าโลกรุนแรงขึ้น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563