EASTW-TTW  รับอานิสงส์ภัยแล้ง      

20 ม.ค. 2563 | 00:00 น.

โบรกฯ เผยหุ้นผลิต นํ้ารับประโยชน์จากภัยแล้งระยะสั้น มองราคาปรับขึ้นเป็นปัจจัยเฉพาะตัว ชี้ภัยแล้งกระทบรายได้เกษตรกรลดลง ฉุดกำลังซื้อ กระทบหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์และค้าปลีก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันมีผลต่อราคาหุ้นที่เกี่ยวกับการผลิตนํ้าอย่าง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EASTW) และ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) โดยหุ้นดังกล่าวอาจจะได้รับประโยชน์บ้างในระยะสั้นแต่ไม่มากนัก เพราะสถานการณ์ภัยแล้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่การผลิตและจำหน่ายของทั้ง 2 บริษัทอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาหุ้นที่ปรับขึ้นนั้นมาจากปัจจัยเฉพาะตัว โดย TTW จะเป็นในส่วนของการจ่ายเงินปันผลมากกว่า รวมถึงการขายนํ้าประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาคผูกขาดในส่วนของภาคกลางตอนล่าง ถึงแม้นํ้าจะขาดหรือไม่ขาด ก็มีการขายเป็นประจำ ขณะที่ EASTW มีการขายนํ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง อีกทั้งมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ขาดนํ้าด้วยการสร้างอ่างเก็บเป็นของตัวเอง ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากสถานการณ์ภัยแล้ง

EASTW-TTW  รับอานิสงส์ภัยแล้ง      

 

สถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นเฉพาะจุดเท่านั้น อย่างพื้นที่ที่ถูกกระทบหนักคือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งราคาหุ้นที่เกี่ยวกับการผลิตนํ้าอาจจะได้ประโยชน์ แต่ไม่มากขนาดนั้น ในทางกลับกัน ภัยแล้งกลับเป็นลบต่อตลาดหุ้นมากกว่า เพราะตลาดหุ้นส่วนใหญ่พึ่งพิงกับรายได้ของเกษตรกรในระดับสูง เช่น การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มไฟแนนซ์ และกำลังซื้อในกลุ่มค้าปลีกและวัสดุก่อสร้าง ที่อาจจะลดลงจากรายได้เกษตรกรที่ปรับลดลงเช่นกัน

บล.เอเซีย พลัสฯ ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งในปี 2563 เริ่มรุนแรงกว่าที่คาด ซึ่งในปีนี้จะเป็นปีที่แล้งมากสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือเกษตรกรปีนี้จะเพาะปลูกพืชน้อยลง กระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งกำลังซื้อของกลุ่มฐานราก และเศรษฐกิจไทย หากพิจารณาในอดีตช่วงสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558-2559 พบว่าจีดีพีของภาคเกษตรหดตัวลง คือ ปี 2558 หดตัว 6.7% และปี 2559 หดตัว 1.4%

 

ทั้งนี้ หุ้นที่ได้ผลบวกในสถานการณ์ภัยแล้ง คือ EASTW ได้ประโยชน์จากลูกค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่หันมาซื้อนํ้ากับ EASTW มากขึ้น เนื่องจากภัยแล้งทำให้นํ้าดิบฟรีหรือบ่อนํ้าของตัวเองลดลง อีกทั้งภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งหลังปี 2562 อยู่แล้ว จะทำให้ต้นทุนขายนํ้าในปี 2563 ทรงตัว และในปีนี้ EASTW มีการทยอยปรับขึ้นราคาขายนํ้าดิบด้วยสูตรใหม่ รวมถึงปริมาณขายนํ้าดิบคาดสุทธิแล้วทำให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น และผลักดันให้กำไรสุทธิปี 2563 กลับมาโตครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ขณะที่ TTW คาดว่าจะได้ภาพรวมในเชิงบวก จากธุรกิจหลักขายนํ้าประปาที่คาดปริมาณขายนํ้าจะเพิ่มขึ้นต่อปีได้ประมาณ 3-5% ตามความต้องการใช้ที่ทยอยมากขึ้นสอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพีอยู่แล้วนั้น ในปี 2563 TTW ยังจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก CKP ที่สูงขึ้นเต็มปี หลังมีการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรีในไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลกำไรสุทธิปี 2563 คาดโต 8% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563