จับตา หุ้นใหญ่ ขายพร้อม LTF หาจังหวะช้อน

20 ม.ค. 2563 | 07:46 น.

โบรกฯเผยแรงขายกองทุนแอลทีเอฟปีนี้ยังเสี่ยง กระทบหุ้นใหญ่ในพอร์ต แนะหาจังหวะลงทุนหุ้นพื้นฐานดี มีโอกาสราคาดีดขึ้นสูง มองกองทุน SSF ไม่ลงทุนหุ้นไทยเต็มที่ หลังถือยาว ความเสี่ยงสูง

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสมาคมบริษัทจัดการลงทุน พบว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2561 โดยในปี 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 406,415,990,706.43 บาท เพิ่มขึ้น 24,252,488,458.62 บาท หรือ 6.34% จากปีก่อนอยู่ที่ 382,163,502,247.81 บาท มีกองทุนอยู่ที่ 93 กอง เพิ่มขึ้น 3 กอง จากเดิมอยู่ที่ 90 กอง และมีบริษัทจัดการเพิ่มขึ้น 1 บริษัท คือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนวี จำกัด

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสฯ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า แรงขายในกองทุนแอลทีเอฟที่หมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วนั้น มองว่ายังคงเป็นความเสี่ยง จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันที่ลดลงกว่า 50% ของแต่ละปีที่มีเข้ามาประมาณ                                     

 อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนที่สามารถขายหน่วยลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟได้ และมีความต้องการขายออกมาจำนวนมาก คาดจะกระทบกับราคาหุ้นที่มีสัดส่วนจากการลงทุนของกองทุนแอลทีเอฟในระดับที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ก่อนหน้านี้บล.ได้เปิดเผยรายชื่อหุ้นที่ได้รับความนิยมจากกองทุนแอลทีเอฟ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) เป็นต้น

 “หุ้นที่มีความเสี่ยงที่จะถูกขายพร้อมกับกองทุนแอลทีเอฟส่วนใหญ่จะมีมูลค่าค่อนข้างแพง ซึ่งจะถูกกระทบมากกว่าหุ้นที่มูลค่าไม่แพงมากนัก แนะนำนักลงทุนต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัว เพราะภาพรวมยังมีความเสี่ยง กดดันพอสมควร แต่หากราคาหุ้นนั้นมีการปรับฐาน และมีจังหวะในการเข้าลงทุน ยิ่งรู้ว่ามีความกดดัน แต่ถ้าพื้นฐานดี หลังจากนั้นราคาจะฟื้นขึ้นได้เอง

จับตา หุ้นใหญ่  ขายพร้อม LTF  หาจังหวะช้อน

สำหรับการลงทุนในหุ้นไทยของกองทุน SSF ที่จะเข้ามาแทนกองทุนแอลทีเอฟนั้น คาดว่าจะไม่มีการลงทุนในหุ้นทั้งหมด เพราะการถือครองมีระยะเวลา 10 ปีเต็ม ซึ่งในระหว่างนั้นอาจจะมีวิกฤติแปลกๆ หากลงทุนในหุ้นทั้งหมดจะเกิดความเสี่ยงได้ จึงมองว่าต้องมีการกระจายความเสี่ยง ทำให้โอกาสที่จะลงทุนในหุ้นไทยไม่เต็มที่ คล้ายกับการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ที่จะลงทุนในหุ้นไทยประมาณ 30%

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงขายกองทุนแอลทีเอฟที่พร้อมขายได้ในปีนี้ จะไม่กระทบต่อหุ้นที่ถูกลงทุนจากกองทุน เพราะส่วนใหญ่หุ้นที่สถาบันเข้าซื้อจะเน้นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ แนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และมีสภาพคล่องในระดับสูง จึงไม่มีความน่ากลัว อีกทั้งกองทุนต่างๆ มีการไถ่ถอนทุกปี ต่างกับกองทุนอาร์เอ็มเอฟที่ลงทุนในหุ้นที่ไม่มีสภาพคล่องมากนัก หากเกิดการยกเลิกขึ้นมาในอนาคตจะมีความน่ากลัวกว่า

ขณะที่ กองทุน SSF ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าหุ้นกลุ่มไหนจะถูกลงทุนมากที่สุด เพราะปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งมีขอบเขตที่กว้างมาก ทำให้คาดว่าจะเป็นการลงทุนที่หลากหลาย และอาจจะลงทุนในหุ้นไทยสัดส่วนที่น้อย แต่จะกระจายการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศมากกว่า เช่น ยุโรปกับจีน รวมถึงในสินทรัพย์อื่นๆ อย่างเช่น ทองคำ เป็นต้น นอกจากนี้ในปีนี้อาจจะเห็นการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่หลากหลาย จากทางเลือกการลงทุนของกองทุนที่มีมากขึ้น

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563