'แบงก์ชาติ'วอนรัฐ-เอกชนร่วมแก้บาทแข็งก่อนใช้ยาแรง

14 ม.ค. 2563 | 07:17 น.

ธปท. วอนรัฐบาล เอกชน ผนึกกำลังแก้บาทแข็ง แบบไม่ต้องใช้ยาแรง พร้อมดูแลค่าเงินใกล้ชิดหลังสอบผ่านไม่อยู่ในข่ายประเทศบิดเบือนค่าเงินของสหรัฐ

นายเมธี สุภาพงษ์  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทยอยอ่อนค่าลงมาแล้ว 1.00% หลังจากทั้งปี 2562 แข็งค่าขึ้น 7-8% สาเหตุส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก  ไม่ใช่การเก็งกำไร โดยเห็นได้จากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ฃ

ขณะที่การออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศยังมีน้อย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างดังนั้น ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขโดยทุกภาคส่วน ซึ่งมีหลายวิธีทำได้ เช่น การเพิ่มการนำเข้าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบในช่วงที่เงินบาทมีการแข็งค่า การลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) และการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบัน 

แต่สำหรับภาคเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมีน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญทั้งประชาชนและธุรกิจ ดังนั้นการที่ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น จะช่วยประหยัดต้นทุนของประเทศได้ 2 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกันทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์นั้น คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งนอกจากวิธีการเข้าซื้อดอลลาร์แล้ว ธปท.ยังมีมาตรการผ่อนคลายเงินไหลออกด้วย 

“ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เรื่องแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งนอกจากวิธีเข้าซื้อดอลลาร์แล้ว ธปท.ยังออกมาตรการคุมบัญชี NRBA, NRBS และผ่อนคลายให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่มาตรการเหล่านี้ต้องใช้เวลา"ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯออกรายงานไทยไม่อยู่ในข่ายประเทศบิดเบือนค่าเงินนั้น 

เมธี สุภาพงษ์  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายเมธีระบุว่า ไทยไม่เข้าเกณฑ์ประเทศบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็ไม่ถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ธปท.ก็ไม่ได้นอนใจ ไม่ใช่สอบผ่านแล้วประมาท โดยยังคงดูแลอย่างใกล้ชิดภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งที่ผ่านมาธปท.ได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนไม่ว่าเร่งการนำเข้าช่วงเงินบาทแข็งค่าหรือเปลี่ยนตลาด 

นายเมธีกล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง 3 ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และธปท.มีความกังวลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าร่วมมือกันจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ไม่ต้องใช้มาตรการแรง เพราะถ้าเป็นเครื่องมือเฉพาะธปท.จะเป็นยาแรง
"เหมือนเป็นโรคมะเร็งมีหลายวิธีรักษาถ้าเริ่มจากเข้มหรือยาแรงร่างกายจะรับไม่ได้ถ้าใช้วิธีธรรมชาติบำบัดแม้จะหายช้าแต่ร่างกายรับได้ก็จะดีกว่า"