คลังรื้อเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง

10 ม.ค. 2563 | 09:21 น.

กรมบัญชีกลาง รับลูก ทบทวนระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เปิดทางเอสเอ็มอีส่วนร่วมมากขึ้น

หลังจากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศออกมาตรการดูแลเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หนึ่งในนั้นคือการให้เอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้น ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็รับลูก เดินหน้าสั่งการให้หน่วยงานหลัก อย่างกรมบัญชีกลางดำเนินการปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเปิดทางให้เอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบงานส่วนนี้

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มีเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมประมูลโครงการภาครัฐอยู่บ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งหลังจากนี้จะให้กรมบัญชีกลางศึกษาการปรับปรุงระเบียบปฎิบัติการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เอสเอ็มอีได้โครงการจากภาครัฐมากขึ้น

คลังรื้อเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง

นางสาวนิภา ลำเจียกเทศ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้สั่งการให้มาทบทวนระเบียบปฎิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลโครงการภาครัฐมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเข้าร่วมประมูลอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากอาจจะยังแข่งขันกับรายใหญ่ได้ยาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ทีมงานสำรวจว่าที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีเข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐต่างๆ และได้รับเลือก ก่อนพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีดังกล่าวต่อไป

คลังรื้อเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง

“ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีได้เข้ามาร่วมประมูลโครงการภาครัฐอยู่บ้าง แต่ยังไม่มากพอ ทางรัฐบาลก็เลยอยากให้หาวิธีให้ร่วมจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับอธิบดีอยู่”นางสาวนิภา กล่าว

สำหรับผลการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ต.ค. 2561 – ก.ย.2562) พบว่า การลงทะเบียนผู้ค้ากับภาครัฐ และผู้ค้ากับภาครัฐที่ลงทะเบียนในระบบ e-GP ตั้งแต่เริ่มใช้งานจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562 จำนวน ทั้งสิ้น 265,088 ราย ประกอบด้วย ผู้ค้าประเภทนิติบุคคล 115,950 ราย คิดเป็น 43.80% ของผู้ค้าที่ลงทะเบียนทั้งหมด และผู้ค้าประเภทบุคคลธรรมดา 149,138 ราย คิดเป็น 56.20% ของผู้ค้าที่ลงทะเบียนทั้งหมด ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.13% โดยผู้ค้ากับภาครัฐประเภทนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 5.75% และประเภทบุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น 6.42%

ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561 - ก.ย. 2562) มีหน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และก่อหนี้จำนวนทั้งสิ้น 2,584,516 โครงการ คิดเป็น 51.87% ของจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งหมด มูลค่าที่จัดหาได้ 1,134,324.41 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้ 102,159.21 ล้านบาท หรือประหยัดได้ 8.26% ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา

ทั้งนี้หากแยกเป็นประเภทหน่วยงาน พบว่า ส่วนราชการมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e–GP มากที่สุด โดยมีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ในปีงบประมาณ 2562 จำนวนทั้งสิ้น 1,160,466 โครงการ มูลค่าที่จัดหาได้ 653,307.66 ล้านบาท คิดเป็น 57.59% ของวงเงินในการจัดหาทั้งหมด รองลงมาได้แก่ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่น ๆ ตามลำดับ