แบงก์ปรับใหญ่รับกติกาเข้มกฎหมายใหม่

04 ม.ค. 2563 | 23:35 น.

ปี2563 น่าจะเป็นปีที่หนักหน่วงอีกปีหนึ่ง สำหรับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน หลังจากที่ต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Digital Disruption) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น แต่สถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)ยังต้องเผชิญความท้าทายกับกติกา กฎระเบียบและกฎหมายใหม่ๆ ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 นอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (environment, social, governance)ที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงิน

เริ่มจากการที่สมาคมธนาคารไทยร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคาร อย่างยั่งยืน ด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines-Responsible Lending)ภายใต้ 4 แนวทางคือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ, การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย, การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน, การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสประกอบการให้สินเชื่อ ภายในสิ้นปี 2563

สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับปรุงหลักเกณฑ์แนวทางส่งเสริมบริการทางการเงินที่เป็นธรรม(Market Conduct)เพิ่มเติมจากปี 2560 เพื่อให้ครอบคลุมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ นาโนไฟแนนซ์บริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) และธุรกิจรถแลกเงิน โดยเฉพาะจะมีการเปิดเผยการเปรียบเทียบปรับผู้บริหารระดับสูง 3 อันดับแรกตั้งแต่กรรมการผู้จัดการใหญ่ภายใต้การยกระดับงาน 9 ด้าน

ถัดมาคือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งทิศทางธุรกิจต้องปรับตัวเกี่ยวกับระบบจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หรือการใช้ข้อมูลและการส่งต่อข้อมูล โดยต้องได้รับการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Consent)จากลูกค้าในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง นอกจากนี้สถาบันการเงินหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องจะต้องปรับกระบวนการทำงานครอบคลุมถึงพันธมิตรที่ใช้ฐานข้อมูลลูกค้า อาทิ ตัวแทน หรือร้านค้า ต้องมีการป้องกันข้อมูลรั่วไหลหรือป้องกันไม่ให้นำข้อมูลลูกค้าไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563

 

 

แบงก์ปรับใหญ่รับกติกาเข้มกฎหมายใหม่

ขณะที่ ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยียังเป็นอีกความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน เพราะเป็น “ภัยที่รู้ แต่มองไม่เห็น” จึงเป็นหน้าที่ผู้ให้บริการทางการเงินต้องมีกลไกที่ป้องกันไม่ให้บริการสะดุด ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองเพิ่มเติม มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือ ทางการเงิน (TFRS 9) โดยให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองขั้นตํ่า 1% ของสินทรัพย์และรายการนอกงบดุลที่ไม่ด้อยคุณภาพ ภายในเวลา 3 ป ี(ปี2563-2565) นอกจากการกันสำรองตาม 3 สถานะฉบับเดิม ซึ่งทำให้สถาบันการเงินมีภาระกันสำรองเพิ่มขึ้นและต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่นานขึ้น 

 

ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 นอกจากกระทบตัวบุคคลที่มีชื่อเป็นผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกิน 50 ล้านบาทแล้ว ในภาคการธนาคารยังได้รับผลกระทบอย่างมากต่อการชำระภาษี โดยเฉพาะสถาบันที่มีสินทรัพย์รอการขาย(NPA)รวมถึงให้เช่าอาคารสำนักงานสาขา ที่จะต้องเสียภาษีจากรายได้ส่วนนี้ ซึ่งทางการได้เลื่อนการยื่นเสียภาษีออกไปจากเดิมในเดือนเมษายน 2563 เป็นสิงหาคม 2563  เพราะรอกฎหมายลูกอีก 8 ฉบับที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ 

นอกจากนั้นธนาคารพาณิชย์ยังมีภาระรายงานข้อมูลบุคคลที่มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 355(พ.ศ. 2562)ออกตามความในประมวลรัษฎากร โดยจะต้องรายงานงวดแรกวันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นยอดธุรกรรมระหว่างวันที่ 24-31 ธันวาคม 2562 

ตามด้วยพระราชบัญญัติติดตามทวงถามหนี้พ.ศ. 2558 แม้จะมีผลในทางปฏิบัติมาระยะหนึ่งแล้วแต่ปี 2563 ทุกคนต้องยึดกติกา และเงื่อนไขในการติดต่อลูกค้าและการกำหนดค่าธรรมเนียม ปิดท้ายด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ซึ่งกำหนดจะปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน โดยจะมีผลในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,536 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2563