จับตาหุ้น BAM เทรดวันแรก 16 ธ.ค.นี้

16 ธ.ค. 2562 | 00:06 น.

จับตาการเข้าซื้อขายวันแรกบนกระดานหลักทรัพย์ของ บมจ. บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM  วันนี้ ( 16 ธ.ค. )จะยืนเหนือราคาจองได้หรือไม่   

 

บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  (บสก.) หรือ BAM จัดตั้งขึ้นในปี 2542 ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 และขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมการบริหารจัดการ NPLs และ NPAs ที่ได้มาจากสถาบันการเงินอื่น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้ BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด และมีเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

BAM มีทุนชำระแล้ว 15,075 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.00 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวนรวม 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท  ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน  1,255 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเพิ่มทุน 280 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe ) จำนวน 230 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลทั่วไป ในวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2562 และผู้ลงทุนสถาบัน ในวันที่ 3-4 และ 6 ธันวาคม 2562 ในราคาหุ้นละ 17.50 บาท 

 

โดยหากไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวน 230 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 26,862.50 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 52,762.50 ล้านบาท และมีบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย

สำหรับการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากวิธีการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหุ้นสามัญของผู้ลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคา (Book building) คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ที่ 1.73 เท่า (อัตราส่วนดังกล่าวคำนวณภายหลังการจ่ายปันผลระหว่างกาลจากงบการเงินงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 62) ทั้งนี้ BAM มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย

 

การนำ BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสริมศักยภาพทางการเงินในการขยายธุรกิจโดยซื้อ NPLs และ NPAs มาบริหารในอนาคต และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้ BAM คงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกของบริษัทภายหลังไอพีโอ จะประกอบด้วย 1) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้น 41.46% 2) บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้จัดจำหน่ายหุ้นในต่างประเทศ) 10.69% และ 3) กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 1.53% 

 

อย่างไรก็ดี 2 ปัจจัยหลัก ๆที่ช่วยการันตีให้แก่ผู้เข้าซื้อหุ้น BAM  นั่นก็คือ การจัดสรรหุ้นส่วนหรือกรีนชู ไม่เกิน 230 ล้านหุ้น โดยกรีนชูจะทำหน้าที่เข้ามาซื้อหุ้น หากราคาหุ้นลงมาที่ระดับ 17.50 บาท โดยกรีนชู จะมีอายุ 30 วัน ตลอดจนการออกมายืนยันการถือครองหุ้นใหญ่ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ล่าสุด นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูฯ ออกมายืนยันภายหลังจากมีการเสนอขายไอพีโอ บริษัทจะได้เงินจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท (รวมส่วนของกรีนชูแล้ว ) ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟู ฯ เหลืออยู่ที่ 7.71 แสนล้านบาท  จากยอดหนี้ทีรับมาดำเนินการ ณ วันที่ 27 มกราคม 2555 อยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท  โดยปัจจุบันยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท

โดยกองทุนฟื้นฟูฯ ยืนยันว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAM  และมีนโยบายถือหุ้นในสัดส่วนอยู่ที่ 45.6-49.1% แม้ว่าจะผ่านช่วงตามข้อจำกัดห้ามขาย (Silent Period) ถือหุ้นทั้งหมดดังกล่าวต่อไปไม่ต่ำกว่าระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ BAM และยังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้น BAM เพิ่มเติม