ของขวัญปีใหม่‘ออมสิน’ รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต

15 ธ.ค. 2562 | 23:10 น.

ออมสินพร้อมปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต-อิออน-เฟิร์สช้อยส์ ให้ของขวัญปีใหม่ลูกหนี้บัตรเครดิตชั้นดี มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนลดลง จากขั้นตํ่า 10% เหลือ 3% หรือจากเดือนละ 1 หมื่นบาทเหลือ 3,000 บาท พร้อมขยายเวลาผ่อนดอกเบี้ยตํ่ากว่าผ่อนบัตรเครดิต ด้านคลินิกแก้หนี้มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ 2,800 ราย รวมมูลหนี้ 610 ล้านบาท ชำระหนี้แล้ว 118 ล้านบาท 

 

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารออมสินเตรียมให้ของขวัญปีใหม่กับประชาชน ด้วยการออกสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและบัตรเครคิตที่ไม่ได้ออกโดยสถาบันการเงิน เช่น บัตรอิออน และ เฟิร์สช้อยส์ วงเงินสูงสุด 100,000 บาทต่อรายหรืออาจจะมากกว่านั้น โดยมีระยะเวลาการผ่อนชำระนาน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดปกติที่ 18- 20% ต่อปี เพื่อลดภาระการผ่อนชำระบัตรเครดิตต่องวดที่อยู่ในอัตราสูง โดยธนาคารออมสินจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารพิจารณาในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาและเสนอเป็นแพ็กเกจที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนรวมกับภาคส่วนอื่นด้วย

“สินเชื่อดังกล่าวเป็นไปตามแนวคิดของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีให้มีภาระในการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตลดลง เช่น เดิมผู้ถือบัตรเครดิตต้องชำระหนี้ขั้นตํ่า 10% ของวงเงินที่ใช้ไป ธนาคารก็จะเข้าไปดูแลให้ผ่อนชำระต่องวดลดลงหรือเดิมเคยผ่อนอยู่เดือนละ 10,000 บาทอาจจะเหลือ 3,000 บาทได้ ซึ่งออมสินเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่ให้สินเชื่อนี้” นายชาติชายกล่าว

ของขวัญปีใหม่‘ออมสิน’  รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต

อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องการสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตดังกล่าว จะต้องปิดบัตรเครดิตที่ต้องการให้รีไฟแนนซ์ แต่ไม่จำเป็นต้องปิดบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่ เพราะสินเชื่อดังกล่าวต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนระหว่างเดือนเท่านั้น ไม่เหมือนระบบการทำงานของคลินิกแก้หนี้ ที่ธปท.ดำเนินการภายใต้การดูแลของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทฯ (บสส.)หรือ SAM ที่เน้นช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาการผ่อนชำระซึ่งจะต้องปิดบัตรเครดิตทุกใบ เพื่อล้างหนี้ทั้งหมดมาอยู่กับ SAM ที่เดียว 

ส่วนการป้องกันความเสี่ยงจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้น หลังได้สินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตกับธนาคารออมสินแล้วนั้น นายชาติชาย ยืนยันธนาคารจะป้องกันความเสี่ยงด้วยการคัดเฉพาะลูกหนี้บัตรเครดิตที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ซึ่งการคิดหนี้เสียของสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตนั้นจะถูกแยกออกจากหนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตที่ธนาคารมีอยู่ เนื่องจากเป็นคนละประเภทกัน 

ทั้งนี้การปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารออมสินปัจจุบัน มี 2 ประเภทด้วยกันคือ สินเชื่อบัตรเครดิตธนาคารออมสิน ที่ตลอด 2-3 ปีที่ให้บริการสินเชื่อดังกล่าวมามีการออกบัตรไปแล้วประมาณ 400,000 ใบ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 2,000 ล้านบาท และบัตรสินเชื่อส่วนบุคคล ออกบัตรไปแล้วประมาณ 200,000 ใบ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้เสียของสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหนี้เสียประเภทอื่น ดังนั้นหากธนาคารจะปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตก็ไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด 

สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการผ่อนชำระหรือมีหนี้เสียบัตรเครดิตนานติดต่อกันเกิน 3 เดือนที่ต้องการลดภาระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้จากหนี้บัตรเครดิตให้มาเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินแทนนั้น ธปท.แนะนำให้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ หรือโครงการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันแทน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้มีโอกาสปลดหนี้ โดย SAM เป็นตัวกลางในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างเจ้าหนี้หลายรายกับลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติในคราวเดียวแบบ One Stop Service แต่เงื่อนไขคือ ผู้ที่จะเข้าโครงการต้องปิดบัญชีบัตรเครดิตที่มีอยู่ทุกประเภท เพื่อผ่อนชำระหนี้ทางเดียวกับคลินิกแก้หนี้ 

 

ทั้งนี้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับคลินิกแก้หนี้ จะคิดอัตราดอกเบี้ย 7-12% ตํ่ากว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่คิดอยู่ที่ 18% และดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลสูงสุด 28% ซึ่งข้อมูลโครงการคลินิกแก้หนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนมิถุนายน 2560-พฤศจิกายน 2562 มีลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,800 ราย คิดเป็นยอดหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้รวมสะสม 610 ล้านบาท เฉลี่ยหนี้เงินต้นต่อราย 250,000 บาท ระยะเวลาผ่อนเฉลี่ย 90 เดือน หรือ 7.5 ปี และลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้มีการชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการสะสมตั้งแต่เปิดโครงการถึงพฤศจิกายน 2562 แล้วรวม 118 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าธปท.แจ้งว่า ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการว่า จะหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้บัตรที่มีประวัติผ่อนชำระดี แต่เริ่มประสบปัญหาการผ่อนชำระได้อย่างไรบ้าง โดยยังคงอิงกลไกตลาดที่จะส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือหลักการเบื้องต้นซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อนจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อไป

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562