หั่นกำไรหุ้นนํ้ามัน  EPSทรุด8.5%  ไอพีโอใหม่กดดัน

15 ธ.ค. 2562 | 00:45 น.

โบรกฯปรับประมาณการกำไรบจ.เพิ่ม 14 บริษัท รวม 12,000 ล้านบาท แต่ปรับลด 50 บริษัท รวม 48,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนํ้ามัน ชี้ EPS ลดลง 8.5% มากกว่ากำไรสุทธิ เหตุไอพีโอใหญ่ตบเท้าเทรด

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างปรับลดประมาณการกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยปีนี้ลง รวมถึงประมาณการกำไรสุทธิของแต่ละบริษัท ซึ่งมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รายงานกำไรสุทธิของ บจ. ในไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 201,347 ล้านบาท ลดลง 18.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2562 อยู่ที่ 645,647 ล้านบาท ลดลง 15.4% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยบจ.ไทยได้รับผลกระทบรอบด้าน ทั้งปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน และปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ บล.เอเซีย พลัสฯ ระบุว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นของหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ในปี 2562 มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิบจ.ทั้งขึ้นและลง โดยฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการ 14 บริษัท รวม 12,000 ล้านบาท และปรับลดประมาณการ50 บริษัท รวม 48,800 ล้านบาท ซึ่งบจ.ที่มีการปรับประมาณการขึ้นมากสุด คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP), บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) ส่วนบจ.ที่มีการปรับลดประมาณการส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับราคานํ้ามันและปิโตรเคมี คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL), บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)

อย่างไรก็ตาม ผลรวมระหว่างส่วนเพิ่มกับส่วนลดของประมาณการใหม่ ปี 2562 พบว่าลดลงประมาณ 36,900 ล้านบาท หรือลดลง 3.69% มาอยู่ที่ 963,000 ล้านบาท รวมถึงมีการปรับกำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลงในอัตราที่แรงกว่า จากระดับ 100.64 บาทต่อหุ้น เหลือ 92.11 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 8.5% ซึ่ง EPS ปรับลดลงมากกว่ากำไรสุทธิเกิดจากจำนวนหุ้นที่เป็นตัวหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีหุ้นสามัญที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เข้ามาซื้อขายในตลาดจำนวน 55 บริษัท มีค่า P/E อยู่ในระดับสูง และมีขนาดใหญ่

หั่นกำไรหุ้นนํ้ามัน  EPSทรุด8.5%  ไอพีโอใหม่กดดัน

 

 

หั่นกำไรหุ้นนํ้ามัน  EPSทรุด8.5%  ไอพีโอใหม่กดดัน

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

สำหรับในปี 2562 มีหุ้นไอพีโอเข้าในดัชนี SET กว่า 14 บริษัท มี P/E เฉลี่ยสูงถึง 84.79 เท่า โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่อย่าง AWC มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป)ในวันแรกที่เข้าซื้อขายที่ 187,000 ล้านบาท และมี P/E ย้อนหลัง 4 ไตรมาส 280 เท่า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่กดดัน EPS ของตลาดฯลดลง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัสฯ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการกำไรสุทธิรวมของบจ.ไทยปีนี้เหลือ 963,000 ล้านบาท ลดลง 3.7% จากเดิมที่คาดไว้ 999,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ปรับลดประมาณการลงจาก 1.05 ล้านล้านบาท เหลือ 1 ล้านล้านบาท หรือลดลง 4.5% และ EPS ปี 2563 ปรับลดลง 9% เหลือ 95.7 บาทต่อหุ้น ซึ่งประมาณการกำไรสุทธิที่ถูกปรับลดลงส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มพลังงานที่ถูกปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลง 29% จากประมาณการเดิม

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562

                  หั่นกำไรหุ้นนํ้ามัน  EPSทรุด8.5%  ไอพีโอใหม่กดดัน