S&P เพิ่มเครดิตไทยครั้งแรกรอบ 9 ปี

12 ธ.ค. 2562 | 08:46 น.

สถาบันจัดอันดับ S&P ปรับเพิ่มเครดิตไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปี กลับมาอยู่ในมุมมอง Positive ในรอบ 16 ปี หลังฐานะการคลังดี การเมืองมีเสถียรภาพ เชื่อสัญญาณดีส่งต่อปีหน้าอันดับดีขึ้นแน่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าบริษัท S&P Global Ratings(S&P)บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้มีการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive)  ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือครั้งแรกในรอบ 9 ปีนับตั้งแต่ปี 2553 และเป็นกลับมาอยู่ในมุมมองเชิงบวกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2546  ขณะเดียวกันยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 ตลอดจนมีการคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาวที่ A- และระยะสั้นที่ A-2

 

S&P เพิ่มเครดิตไทยครั้งแรกรอบ 9 ปี
ทั้งนี้สาเหตุที่ประเทศไทยได้รับมุมมองที่ดีขึ้น มาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ ภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำอยู่ที่ 41.2% ของจีดีพี ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง  การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และการมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาวก็เป็นสิ่งที่ดี

“การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งช่วยตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี ตลอดจนช่วยให้มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งส่งผลดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ  การบริหารประเทศ เพื่อช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อจากนี้ไป S&P ประเมินว่า ควรต้องติดตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯๆ -จีน ที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย”นายอุตตม กล่าว 

นายอุตตม กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นที่สำคัญทั่วโลก ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา บริษัท Fitch Ratings (Fitch) และบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับ Stable เป็น Positive และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ BBB+ และBaa1 ตามลำดับ และต่อมาเดือนต.ค. บริษัท Rating and Investment Information,Inc(R&I) ได้อันดับความนำเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากระดับ BBB+ มาเป็น A- สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

S&P เพิ่มเครดิตไทยครั้งแรกรอบ 9 ปี
“การปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่าง ๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตรัฐบาลจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน(PPP) ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้นการปรับอันดับเป็นเชิงบวกขณะนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่าในอนาคตการปรับอันดับดังกล่าวจะดีขึ้นอีกในปีต่อไปได้”นายอุตตม กล่าว

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า แนวโน้มการจัดอันดับเครดิตของไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆ มีสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะโดยรวมแล้ว แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ ไม่ถึงขั้นวิกฤต ฉะนั้นอันดับเครดิตของไทยในอนาคตน่าจะดีขึ้นกว่านี้แน่นอน

S&P เพิ่มเครดิตไทยครั้งแรกรอบ 9 ปี

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เชื่อว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% ได้ เพราะมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาล ทำให้การบริโภคในเดือนต.ค.ฟื้นตัวขึ้น สะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ภายในประเทศขยายตัว 6% ทำให้เชื่อว่าที่เหลือของปีนี้ การบริโภคจะเป็นตัวนำทำให้เศรษฐกิจเป็นไปตามที่คาด โดยทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ 2.6% ได้ ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมา ก็จะส่งผลไปยังเศรษฐกิจไทย ในครึ่งปีแรกของปีหน้าขยายตัวดีต่อเนื่องตามไปด้วย