SFLEX เคาะไอพีโอ 3.88 บาท/หุ้น  เทรด19 ธ.ค.นี้

07 ธ.ค. 2562 | 03:55 น.

SFLEX กำหนดราคา IPO ที่ 3.88 บาท/หุ้น ระดมทุน 426.80 ล้านบาท เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคมนี้  คาดว่าจะเข้าซื้อขายใน SET 19 ธันวาคม 62  ชูเป้าหมายผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ทั้งในประเทศไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV 

นายสมภพ  กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท  สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX  เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)  จำนวน 110 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น  ในราคา 3.88 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอขายให้แก่ประชาชนจำนวน 99 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 24.15 และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ จำนวน 11 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 2.68  ซึ่งหุ้นทั้งสองส่วนจะเสนอขายในราคาเดียวกัน โดยจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่  11-13 ธันวาคม 2562 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)  หมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า  “SFLEX”

การเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 8  แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด และ บริษัทหลักทรัพย์ ไอ วี โกลบอล จำกัด (มหาชน)

“ราคาไอพีโอที่หุ้นละ 3.88 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และสอดคล้องกับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน โดย SFLEX ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนชั้นนำในประเทศ มีลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท  ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด, บริษัท นีโอแฟคทอรี่ จำกัด,  บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไอ.พี. แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำเหล่านี้มีกระบวนการในการคัดเลือกผู้จัดจำหน่าย (Supplier) ที่มีมาตรฐานสูง การที่บริษัทฯ สามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าดังกล่าวได้จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทฯ อย่างมาก รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานของสินค้าของบริษัทเป็นที่ยอมรับจากคู่ค้าระดับสากล

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ยอดขายที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง นอกจากนี้  บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าทั้งในส่วนของบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภค และขยายตลาดไปยังกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนยอดขายจากบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 15.23% ในปี 2561 เป็น 20.18% ในงวด 9 เดือนแรกปี 2562  ผมจึงมั่นใจว่าหุ้นของ SFLEX จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน” นายสมภพ กล่าว

นายปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX  เปิดเผยถึง แผนการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับบริษัทฯ โดยเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนทั้งสิ้นจำนวน 426.80 ล้านบาท ไปใช้ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฟิล์มประเภทที่ใช้ในการปิดผนึกขึ้นรูป (Sealant) ประมาณ 140 ล้านบาท   พร้อมกันนี้ จะนำเงินไปลงทุนสร้างคลังสินค้าประมาณ 50 ล้านบาท รวมถึงนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินประมาณ 95 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ

“กลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ SFLEX  มีเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ทั้งในประเทศไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV โดยมีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญ คือ การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partnership) กับลูกค้าในระยะยาว นอกเหนือจากการซื้อขายสินค้าระหว่างกันแล้ว บริษัทยังร่วมกับลูกค้าในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสถานการณ์ทางการตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) โดยการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด Flexible Packaging ที่หันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิล และการใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาวัตถุดิบให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดังกล่าวไว้แล้ว” นายปรินทร์ธรณ์ กล่าว
   
สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2559-2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,181.01 ล้านบาท 1,353.33 ล้านบาท 1,374.25 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 33.29 ล้านบาท 146.63 ล้านบาท 136.11 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 943.22 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจำนวน 46.42 ล้านบาท