นักออมรุ่นใหม่เฮ SSFเลิกอุ้มคนรวย

09 ธ.ค. 2562 | 02:05 น.

เผยเกณฑ์ SSF เปิดโอกาสกลุ่มมีรายได้ระดับกลาง 5 แสน-2 ล้านบาทต่อปี ออมเพิ่มจาก LTF ได้เท่าตัวหักล้างครหา “อุ้มคนรวย” รับไม่ถูกใจคอตลาดหุ้น คลังขอเวลา 5 ปี (2563-2567) พิสูจน์ดูผลตอบรับก่อนทบทวน

 

 

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่เห็นชอบกองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ (SSF) แทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยกองทุน SSF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 30% แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับวงเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่นเพื่อการเกษียณแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปีภาษี โดยกำหนดระยะเวลาการถือครองจากเดิม 7 ปีปฏิทินเป็น 10 ปี (วันชนวัน) ทั้งนี้กอง SSF สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนได้ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2563-2567 และหลังจากปี 2567 กระทรวงการคลังจะกลับมาพิจารณาว่าจะให้ลดหย่อนภาษีจากกองทุน SSF อีกหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูจากผลตอบรับของนักลงทุน

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า เงื่อนเวลาที่ยืดออกไปเป็น 10 ปีทำให้ความน่าสนใจในการเข้าซื้อ SSF น้อยลง เพราะคำนวณผลตอบแทนแล้วอาจไม่คุ้ม คนอาจไปเลือกลงทุนอย่างอื่นที่ดีกว่าโดยยอมเสียสิทธิภาษี
ประกอบกับเงื่อนไขเงินลงทุนรวมกัน (SSF + RMF) ได้เพียง 5 แสนบาทจากเดิม (RMF + LTF) ได้ 1 ล้านบาท ทำให้กอง SSF อาจไม่ถูกใจนักลงทุน แต่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการออม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ด้านแหล่งข่าวกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการกำหนดระยะเวลาถือครองกอง SSF ถึง 10 ปี และการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนภาษีจาก 15% ของ 30% ของรายได้ กำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ถือเป็นการเปิดทางให้ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 150,000 -1 ล้านบาทต่อปี หรือผู้มีรายได้อยู่ในฐานภาษี 5%, 10%, 15%, 20% ลงทุนเพิ่มเทียบ LTF ได้ถึง 2 เท่าตัว โดยฐานผู้เสียภาษีกลุ่มนี้ เดิมจะซื้อหน่วยลงทุนนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ 22,500 บาท, 45,000 บาท, 75,000 บาท, 112,500 บาทต่อปีตามลำดับ แต่ SSF เพิ่มได้สูงสุดเป็น 45,000 บาท, 90,000 บาท, 150,000 บาท และ 200,000 บาทต่อปีตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ตอบโจทย์เลิกอุ้มคนรวย เพราะผู้มีรายได้ 2 -4 ล้านบาท หรือผู้เสียฐานภาษีอัตรา 30% และผู้มีรายได้มากกว่า 4 ล้านบาทขึ้นไป ฐานภาษีอัตรา 30-35% หากเป็น LTF สามารถซื้อหน่วยลงทุนโดยลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 3 แสนบาทและ 5 แสนบาทต่อปีตามลำดับ แต่สำหรับ SSF ผู้มีรายได้ระดับ 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ฐานภาษีในอัตรา 30% ซื้อหน่วยลงทุนได้สูงสุดเพียง 2 แสนบาทต่อปีเท่านั้น

“12 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2551 ที่เริ่มมีมาตรการเรื่อง LTF รัฐบาลได้พยายามแก้เกณฑ์ ซึ่งมองว่าเป็นการเอื้อกับกลุ่มคนรวย สร้างความเหลื่อม ลํ้าทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมคนเล่นหุ้น มากกว่าเรื่องการออมเงิน โดยที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ LTF หลายครั้งทั้งในเรื่องคำนิยามรายได้พึงประเมิน เกณฑ์การถือครองจากเดิมที่เป็น 5 ปีปฏิทิน (ลงทุนจริงเพียง 3 ปีนิดๆ) มาเป็นไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทินเมื่อปี 2559 เป็นต้นมา ก่อนที่ยุติการให้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษี สิ้ดสุดปี 2562 โดยตั้งกองทุน SSF ขึ้นมาแทนที่ พร้อมเปิดทางให้ลงทุนได้ทุกประเภท ไม่จำกัดแค่หุ้นไทย”

ทั้งนี้รายงานของกรมสรรพากรระบุว่าในปี 2561 มีผู้ลดหย่อนภาษีจากกองทุน LTF จำนวน 400,000 ราย ขอคืนภาษีรวม 10,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุน RMF มีผู้ขอยื่นเพื่อขอลดหย่อนภาษี 200,000 ราย คิดเป็นเงินคืนภาษีกว่า 6,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าเมื่อมีกองทุน SSF ขึ้นมาตัวเลขการขอคืนภาษีจะยังคงใกล้เคียงกับการขอคืนภาษีรอบปีที่ผ่านมา

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจาก LTF และ RMF รวมกันปีละ 1 ล้านบาท แต่เมื่อมีการออก SSFมาแทน LTF ทำให้วงเงินที่ใช้ในการลดหย่อนภาษี รวมกับ RMF เหลือเพียง 5 แสนบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้สูงที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มปีละ 1 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มที่มีเงินเดือนระดับปานกลางที่ยังออมเงินน้อยและต้องการออมเงินเพิ่ม แต่ติดเพดานเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เพราะขยายออกไปเป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของเม็ดเงินภาษีของรัฐไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังคงเท่าเดิม เพียงแต่โดนแบ่งจากกลุ่มผู้มีรายได้มาก มายังกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางที่จะเข้ามาแทนที่และจะเป็นจำนวนที่มากขึ้นด้วย การออกกองทุน SSF แทน LTF นั้นไม่ได้ช่วยรัฐในแง่ประหยัดเม็ดเงินภาษีเลย เม็ดเงินภาษีที่ใช้ใน
สิทธิลดหย่อนกองทุนเหล่านี้ยังคงเท่าเดิม

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562