บาทแข็งโป๊ก!20สตางค์ ต่อเดือน ครองแชมป์ภูมิภาค

13 ธ.ค. 2562 | 11:25 น.

ปีหน้าค่าเงินยังผันผวน เหตุความไม่แน่นอนในตลาดโลก สงครามทางการค้าเกิดขึ้นเป็นระลอก นักลงทุนยังมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ค่ายกสิกรไทยเผย บาทแข็งค่าแล้ว 7.33% แม้ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น 2.58 หมื่นล้าน ยอดถือครองบอนด์ไทย 6.73 หมื่นล้านบาท “ซีไอเอ็มบี-กรุงไทย” ชี้ทิศค่าเงินยังผันผวน

 

แนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินบาท ยังเป็นเป้าสายตาทั้งตลาดเงินและตลาดทุนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หลังจากรอบปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 7.33% จากที่ปิดสิ้นปีก่อน 32.55 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ 4 ธันวาคม 2562 โดยแข็งค่าขึ้น 2.20 บาท หรือ 20 สตางค์ต่อเดือน แข็งค่านำสกุลเงินในประเทศภูมิภาคเอเชีย รองลงมาคือ เป็นรูเปีย กับ เปโซ ทั้ง 2 สกุลเงินแข็งค่าเท่ากันที่ 3.8% ปอนด์สเตอร์ลิงแข็งค่า 3.3% ตามมาด้วยเยน 1.2% ดอลลาร์ไต้หวัน 0.8% และดอลลาร์สิงคโปร์ 0.5%  

ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า มาจากทิศทางการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของตลาดเงินตลาดทุนโลก บวกมาตรการสงครามการค้าและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ช่วงต้นปี เงินบาทได้รับแรงหนุนท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากตลาดเริ่มไม่แน่ใจในจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จากนั้นช่วงปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 จะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับภาพการลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวังของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย สะท้อนจากสถานะขายสุทธิทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ซึ่งในเวลานั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญของตลาดการเงินไทยที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดหลังการเลือกตั้งคือ สถานการณ์ทางการเมืองและความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

บาทแข็งโป๊ก!20สตางค์ ต่อเดือน  ครองแชมป์ภูมิภาค

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์

อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่าตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2 โดยทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมุมมองของนักลงทุนที่ว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย

ผ่านมา 11 เดือน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยประมาณ 25,883 ล้านบาท จากสิ้นปีที่แล้วขายสุทธิ 287,459 ล้านบาท และลดการถือครองพันธบัตรไทยจากสิ้นปีที่แล้วซื้อสุทธิ 134,708 ล้านบาท เหลือ 67,309 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองล่าสุดอยู่ที่ 919,239 ล้านบาท


 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี-ไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 7% แข็งค่าแรงที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยสำคัญคือ ภาพความไม่แน่นอนในตลาดโลกมีสูงบวกเรื่องสงครามทางการค้าที่เกิดเป็นระลอก ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการถือดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกันเฟดลดดอกเบี้ย จึงเห็นนักลงทุนกลับเข้ามาถือสินทรัพย์ในรูปเงินบาท เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยในประเทศด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีต่างชาติขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตร และการนำเข้าติดลบแรงกว่า การส่งออกติดลบ ทำให้ไทยเกินดุลการค้า และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ประกอบกับมีรายได้การท่องเที่ยวก็กลับมา จึงเป็นที่มาของเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูง

บาทแข็งโป๊ก!20สตางค์ ต่อเดือน  ครองแชมป์ภูมิภาค

การแข็งค่าแรงของเงินบาท แม้จะไม่ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้าและส่งออกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะส่วนใหญ่ป้องกันความเสี่ยง (เฮจด์) ไว้ และแม้ส่งออกจะติดลบ 2% แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็ไม่ได้ย่ำแย่ เพราะบางประเทศติดลบ 5-10% แต่กลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มเกษตร ยาง ข้าว เพราะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่คล้ายประเทศอื่นและไทยส่งออกถูกกดราคา ขณะที่การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะมีความชัดเจนหรือจะเลื่อนออกไปในวันที่ 15 ธันวาคม ทำให้ความไม่แน่นอนของโลกยังมี ดังนั้นมีโอกาสที่เงินบาทจะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 29.70 บาทต่อดอลลาร์ ไตรมาส 1 ปีหน้า

เรามองว่า การทำข้อตกลงจะเลื่อนออกไปและมีผลในปีหน้า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยอีกครั้งในมีนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยให้บาทแข็ง แต่อยากเตือนให้ระวังไตรมาส 2 ที่เงินบาทจะพลิกมาอ่อนค่า คาดว่าปลายปีหน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหว 29.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ผู้ประกอบการยังไม่เลือกใช้มาตรการธปท.เปิดให้พักเงินไว้ในต่างประเทศ โดยไม่ต้องแปลงเป็นสกุลเงินบาท เพราะแม้จะมีรายได้เป็นดอลลาร์ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในประเทศเป็นรูปเงินบาท ดังนั้น มาตรการธปท.จึงยากที่จะทำให้เงินบาทเปลี่ยนทิศ แต่อย่างน้อยช่วยชะลอการแข็งค่า

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ตั้งข้อสังเกตปีหน้าว่า สงครามการค้ายืดเยื้อ อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้บาทปรับตัวลงในช่วงไตรมาสแรกและอ่อนกลับในไตรมาส 2 โดยตั้งแต่ไตรมาส 3 จนถึงสิ้นปี น่าจะเห็นเงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงทั้งปี 5-10% เทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น เยน ยูโร และเงินบาทจะแข็งค่าตามราว 5% ไปที่ระดับ 28.7 บาทต่อดอลลาร์

 

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562

บาทแข็งโป๊ก!20สตางค์ ต่อเดือน  ครองแชมป์ภูมิภาค