สัญญาณหนี้เสีย  บัตรรูดปรื๊ด ตั้งเค้าพุ่ง   

06 ธ.ค. 2562 | 00:05 น.

ตลาดบัตรเครดิตปี 2563 โต 9% แผ่วลงจากปี 2562 เหตุสัญญาณผิดนัดชำระและเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เทียบเดือนกันยายนปีนี้ พบปริมาณใช้จ่ายเพิ่ม 9.33%  เบิกเงินสดล่วงหน้าโต 9.18% กรุงศรีชี้ทิศทางปี 2563 โตแผ่ว ค่ายซิตีี้ อัดโปรเที่ยวอิตาลี เผยเห็นโอกาสยอดใช้จ่ายโต ไม่ตกตามภาวะเศรษฐกิจ        

การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจ SMEs ขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สิ้นเดือนกันยายน 2562 เพิ่มเป็น 3.01% จากไตรมาส 2 อยู่ที่  2.95% ของสินเชื่อรวม โดยเฉพาะสินเชื่อ อุปโภคบริโภคด้อยลงเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ ส่วนหนึ่งจากการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มจาก 3.34% เป็น 3.49% สินเชื่อรถยนต์เพิ่มจาก 1.82% เป็น 1.86% และสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มจาก 2.48% เป็น 2.65% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลลดลงจาก 2.42% เป็น 2.36%

สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครเดิต เดือนกันยายนปี 2562 ตามรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีปริมาณการใช้จ่ายรวม 173,255.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณใช้จ่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 14.68% เบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 9.18% ขณะที่ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 13.95% และยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 9.06%

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตปี 2563 โดยระบุว่า ยังมีโอกาสเติบโตได้ 8-9% ซึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการใช้เงินสด มาเป็นหมวดไร้เงินสดหรือบัตรเครดิต อย่างไรก็ดี ไตรมาส 4 ปีนี้อาจจะเติบโตน้อยกว่าตลาดคาด เพราะมีปัจจัยลบมากระทบ ทั้งสถาน การณ์เศรษฐกิจที่ชะลอลง หรือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาพรวมเศรษฐกิจลดลง อาจส่งผลให้การใช้จ่าย เช่น ซื้อกระเช้าของขวัญปีใหม่แผ่วลง หรือการลงทุนหุ้นระยะยาว  (LTF) ชะลอลง

สัญญาณหนี้เสีย  บัตรรูดปรื๊ด ตั้งเค้าพุ่ง   

ฐากร ปิยะพันธ์

ทั้งนี้ปกติไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้งปลายปี หรือการลงทุนต่างๆ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษี แต่โดยรวมทั้งปี 2562 คาดว่า ตลาดบัตรเครดิตยังเติบโต 10-11% ด้วยมูลค่ายอดสินเชื่อคงค้าง 3.4 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดกดเงินสดอยู่ที่ 6-7% จากหลายปีก่อนที่สูงกว่า 10% ส่วนแคมเปญผ่อนชำระ 0% หรือกลยุทธ์ผ่อนชำระระยะยาวหรือ เทอมผ่อนชำระ 4 ปี อาจจะลดลงบ้าง รวมถึงการทำตลาดที่ไม่โฟกัสกลุ่มวัยรุ่นมากนัก

ปีหน้า อัตราการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตจะน้อยกว่าปีนี้ เพราะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณหนี้เอ็นพีแอล กระดกขึ้น จากอัตราการผิดนัดชำระของลูกหนี้

อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักของอัตราผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้รายเดิม มีภาระต้องจ่ายหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตามกฎหมาย ใหม่ของกยศ. และผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าบางกลุ่มต้องปิดกิจการ หรือค่าล่วงเวลาที่หายไปจากการลดเวลาทำงานลง ประกอบกับบางกลุ่มที่เคยใช้เงินจากบัตรเครดิตเพื่อหมุนเวียนแล้วมีหนี้คงค้างสูง 3.การเริ่มติดตามทวงถามลูกหนี้ 1 ครั้งต่อวันตามกฎหมายติดตามทวงถามหนี้ ส่งผลให้มีลูกหนี้หายไป

สัญญาณหนี้เสีย  บัตรรูดปรื๊ด ตั้งเค้าพุ่ง   

 

ในส่วนของกรุงศรีคอนซูมเมอร์ได้เริ่มทดลองโทรศัพท์หาลูกค้า 1 ครั้งต่อวัน เพื่อที่จะประเมินผลทั้งขาเข้าและขาออกในการติดต่อลูกค้า ก่อนที่จะประเมินผลตอบ เพื่อที่จะปรับตัวหรือหาช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้าให้สอดคล้องตามกฎหมายต่อไป เช่น กรณีโทรศัพท์ แต่ลูกค้าไม่รับสาย อาจจะปรับใช้ช่องทางอื่นหรือติดต่อลูกค้าในวันหยุดสุดสัปดาห์จากที่ไม่เคยทำ

ด้านนางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบุคคลธนกิจ ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในรอบปีนี้ทั้งจำนวนบัตรและการใช้จ่ายยังเห็นการเติบโตทั้งลูกค้าใหม่และกลุ่มลูกค้าเดิมที่ใช้จ่ายสมํ่าเสมอ ดังนั้น ทั้งปีน่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก จากที่ผ่านมามีอัตราเติบโต 15%

โดยสัดส่วนการใช้จ่ายในต่างประเทศอยู่ที่ 16% ที่เหลือเป็นหมวดกิน ช็อปปิ้ง และเห็นการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ โดยล่าสุดจัดแคมเปญมอบอภิสิทธิ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิต อัลทิมา และเพรสทีจ รวมถึงบัตรอื่นตั้งแต่ลดขั้นตอนยื่นขอวีซ่าก่อนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะอิตาลี รวมถึงที่พัก และช็อปปิ้ง ฯลฯ

 

กลยุทธ์ของซิตี้ สิ่งสำคัญคือสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้ลูกค้ามีทางเลือกหลากหลาย และคุ้มค่าในการใช้บัตร ซึ่งบัตรเครดิตซิตี้ยังเป็นอันดับที่ 1 หรือ 2 ในกระเป๋าของลูกค้า ขณะที่เอ็นพีแอลในพอร์ตยังมีคุณภาพดีกว่าที่เห็นในตลาด

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ การใช้จ่ายยังคึกคัก โดยวางตำแหน่งบัตรซิตี้ให้เป็นบัตรที่ 1 หรือ 2 ในกระเป๋าของลูกค้า อย่างไรก็ตาม กรณียุโรปมีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับบัตรเครดิตนั้น ทำให้บางแห่งเริ่มยกเลิกคะแนนสะสม ซึ่งอาจเป็นเพราะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนของซิตี้ยังไม่มีนโยบายจะเปลี่ยน แปลงแต่อย่างใด โดยยังคงยึดนโยบายให้ลูกค้าใช้บริการใช้จ่ายได้อย่างคุ่มค่าในสิทธิประโยชน์

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2562

                 สัญญาณหนี้เสีย  บัตรรูดปรื๊ด ตั้งเค้าพุ่ง