กางแผน‘ทิพย’ปี63 ‘รุกรถยนต์-ภาครัฐ’ เต็มสูบ

03 ธ.ค. 2562 | 05:20 น.

 

เข้าสู่โค้งท้ายปี 2562 และทิศทางปี 2563 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัย หลายคนประเมินว่า ธุรกิจยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายมากมาย โดยเฉพาะการแข่งขันที่ยังคงรุนแรง ละยังเป็นปีที่ยังเหนื่อย แต่การลงทุนภาครัฐที่ชัดเจนขึ้นจากปีนี้ น่าจะเป็นอานิสงส์ของธุรกิจประกันวินาศภัย ขณะที่ภาคเอกชนยังคงซึมๆ และการใช้จ่ายภาคประชาชนยังไม่ดีมากนัก ทำให้ธุรกิจต้องวางแผนขยายการเติบโตให้ถูกจังหวะพร้อมรับมือกับปัจจัยความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน)เล่าให้ฐานเศรษฐกิจฟังว่า บริษัทอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจปี 2563 ซึ่งน่าจะเสร็จและเสนอบอร์ดได้ภายในเดือนหน้า โดยจะนำบทวิเคราะห์และวิจัยจากสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 มาพิจารณาร่วมด้วย เพราะหากย้อนไป 10 ปีของธุรกิจประกันภัย จะมีอัตราเติบโตเป็น 2 เท่าของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันวินาศภัยขยายตัวเพียงครึ่งเดียวของจีดีพี อย่างจีดีพีขยายตัว 3.5% ธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตเพียง 1.75% เท่านั้น

ดังนั้นแผนการเติบโตเบื้องต้น หากคาดการณ์จีดีพี ขยายตัวมากกว่า 3% ธุรกิจประกันภาพรวมน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 1.5-2% ส่วนของบริษัท ทิพยประกันภัยฯ โดยปกติจะตั้งเป้าการเติบโต 2 เท่าของธุรกิจประกันภัย จึงคาดว่าปี 2563 บริษัทจะเติบโตประมาณ 4% เช่นเดียวกับปี 2562 โดยเศรษฐกิจน่าจะโตได้ 4.5% ธุรกิจประกันภัยน่าจะโตได้ 2.35% บริษัทจึงตั้งเป้าโตไว้ 5% โดยช่วง 9 เดือน เบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโตเกือบ 6% คิดเป็น 13,391 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 702 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 12,689 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 1,413 ล้านบาท

 

กางแผน‘ทิพย’ปี63  ‘รุกรถยนต์-ภาครัฐ’ เต็มสูบ

สมพร สืบถวิลกุล

 

สำหรับความท้าทายของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2563 จะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์) แต่บริษัทไม่เน้นแข่งขันด้านราคา แต่จะเน้นกลุ่มลูกค้า Value for Money ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ ซึ่่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับระบบทั้งบุคลากรและดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจและเชื่อใจ เนื่องจากปัจจุบันตลาดเป็นของผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้บริการกับบริษัทที่พึงพอใจ แตกต่างจากเดิมที่จะมีนายหน้าเป็นผู้เสนอทางเลือกให้เท่านั้น

ทั้งนี้หลังปรับระบบโครง สร้างพื้นฐานเพื่อรองรับตลาดราย ย่อยแล้ว ปี 2563 บริษัทจะรุกตลาดประกันรถยนต์มากขึ้น จากปัจจุบันมีเบี้ยประกันรถยนต์อยู่ 3,000 ล้านบาท คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ยังคงขยายต่อเนื่องสอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยปัจจุบันเบี้ยโครงการภาครัฐประมาณ 40% ของพอร์ตเบี้ย ทั้งหมดจากเดิมอยู่ที่ 70% แต่ปัจจุบันสัดส่วนเบี้ยภาครัฐและเอกชนสัดส่วนเท่ากัน 50% เนื่องจากโครงการใหม่ๆ จะเป็นของเอกชน

 

ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ สมาร์ทซิตี ขอนแก่น โดยจะเข้าไปเปิดสาขา Smart Branch และร่วมมือกับเอกชนที่มีความพร้อม เช่น โรงพยาบาล ร้านเปลี่ยนยาง และผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยให้มาเป็นพันธมิตร และจะยกขอนแก่นเป็นขอนแก่นโมเดล ซึ่งปัจจุบันพอร์ตธุรกิจในภาคอีสานเฉลี่ยเกือบ 30% เทียบภูมิภาคอื่นเฉลี่ยที่ 25%

นอกจากนี้ตั้งแต่ปลายปี 2562 -2563 บริษัทจะทยอยออกผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจะออกแบบกรมธรรม์ทั้งประกันรถยนต์และสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การบำรุงรักษาเปรียบเหมือนประกันบ้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอัคคีภัยเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเรื่องเกี่ยวกับบ้าน

 

 

ความเสี่ยงและความท้าทายของธุรกิจประกันภัยปี 2563 จะเป็นเรื่องการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเพื่อชิงเค้กก้อนเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นสงครามราคาได้ รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอก ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit หากรุนแรงไม่จบจะกระทบทั้งโลก ธุรกิจก็กระทบไปด้วย และภาครัฐเองควรสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนให้เกิดการลงทุน และกระตุ้นการบริโภคของประชาชนมากขึ้น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562

กางแผน‘ทิพย’ปี63  ‘รุกรถยนต์-ภาครัฐ’ เต็มสูบ