ประกันบิ๊กโปรเจ็กต์ เบี้ยสะพัด2พันล้าน

29 พ.ย. 2562 | 07:35 น.

ธุรกิจประกันวินาศภัย ประกาศศึกปี 63 ชิงรับงานเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ คาดเบี้ยประกันสะพัด 2 พันล้าน “ทิพย” ชี้สิ้นปีรู้ผลประมูลไฮสปีดเทรน ฟาก “เมืองไทย” กวาดโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง  

 

 

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัย (TGIA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการเข้าไปรับประกันภัยโครงการขนาดใหญ่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีมากขึ้น
สอดคล้องกับประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ทั้งรถไฟความ เร็วสูงและโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)ที่มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและไทยทยอยออกมามูลค่าลงทุนมากกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นปีนี้ราว 1 ล้านล้านบาท จะเห็นอัตราเบี้ยประกันภัยเฉลี่ย 0.1-0.2% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นเบี้ยประกัน 1-2 พันล้านบาท 

หากดูมูลค่าลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ไฮสปีดเทรน) จะอยู่ที่ 1.5% ของมูลค่าโครงการ 3 แสนล้านบาท คิดเป็นเบี้ยราว 450 ล้านบาท สูงกว่าโครงการทั่วไปที่่เฉลี่ย 0.1-0.2% เนื่องจากไฮสปีดเทรนมีความซับซ้อน  แต่มีบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่มีศักยภาพ 5 บริษัท ไม่เกิน 10 บริษัท เนื่องจากการรับประกันโครงการขนาดใหญ่ต้องมีเงินกองทุนเพียงพอและความเชี่ยวชาญ โดยส่วนใหญ่จะมีบริษัทกลางหรือโบรกเกอร์ประสานรับงานและกระจายงานต่อให้บริษัทประกันตามมูลค่าโครงการ จากนัั้นจะส่งต่อความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยต่อ(รีอินชัวเรอร์) ในต่างประเทศ ซึ่งเฉลี่ยจะส่งต่อไป 80% ที่เหลือจะกระจายในบริษัทประกันไทย

“ธุรกิจประกันภัย ถือเป็นธุรกิจตามนํ้า หากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่และมีความเสี่ยง จะเห็นธุรกิจขยายตัวตาม ตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ติดตั้งและตกแต่ง ตลอดจนไปถึงประกันภัยทรัพย์สินและอาคารทั้งหมด ซึ่งในไทยมีอยู่ 5 เสือ ไม่เกิน 10 เสือที่รับงานโครงการขนาดใหญ่” 

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน์ กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า  บริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมรับประกันภัยเมกะโปรเจ็กต์ เช่น รถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟทางคู่ ทางด่วน ส่วนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการอาคารสูงขนาดใหญ่ต่างๆ เนื่องจากมีศักยภาพในการรับโครงการขนาดใหญ่ที่ 2,500 ล้านบาท ที่ผ่านมากรุงเทพประกันภัย จึงเป็นทั้งผู้รับประกันภัยรายเดียวและผู้รับประกันภัยร่วม ซึ่งกรณีที่รับประกันภัยร่วมสัดส่วนการรับประกันภัยจะเป็นอับดับ 1 หรือ 2 และหากผู้รับเหมาเป็นลูกค้าเดิม บริษัทจะทำหน้าที่เป็นผู้รับประกันภัยหลัก

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ปลายปีนี้น่าจะรู้ผลการเข้าไปรับประกันโครงการไฮสปีดเทรน หลังจากมีการเซ็นสัญญาโครงการไปก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากมูลค่าโครงการหลายแสนล้านบาท จึงมีพันธมิตรประกันเข้าไปรับร่วม 3-4 บริษัท โดยทิพยประกันภัยมีศักยภาพแข็งแกร่ง จึงรับประกันภัย 30% ส่วนไฮสปีดเทรนเส้นทางอื่นที่มูลค่าหลักแสนล้านบาท สัดส่วนรับประกันจะเฉลี่ย 25% ซึ่งบริษัทประกันภัยต้องบริหารสภาพคล่อง โดยส่งไปยังรีอินชัวเรอร์และจะเก็บไว้เองประมาณ 10% ซึ่งการเข้าร่วมโครงการขนาดใหญ่ของรัฐปี 2563 จะคึกคักมากขึ้น

นายวาสิต ลํ่าซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า โครงการไฮสปีดเทรนอาจต้องรอดูผู้ร่วมลงทุน (Consortium)ที่มี 5-6 ราย จะมีการเปิดให้บริษัทประกันเข้าไปแข่งขันร่วมรับประกัน จึงรอดูโอกาสและจังหวะ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้เข้ารับประกันหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง บริษัทเป็นลีดในการรับประกันสัดส่วนประมาณ 60% รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ที่รับประกันหลายสาย การก่อสร้างสะพาน เป็นต้น ซึ่งมูลค่าการรับประกันภัยรวมอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท

“สิ่งที่จะเห็นต่อเนื่องในปี 2563 คืออัตราเบี้ยประกันรีอินชัวเรอร์ทยอยปรับขึ้น 20-30% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงขยับเพิ่มขึ้นและอัตราความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน(Loss Ratio) สูงขึ้น ประกอบกับบริษัทประกันภัยต่อมีน้อยลง แต่ความต้องการมีเท่าเดิม”

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เจนเนอราลี่ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า บริษัทพร้อมในการเข้าไปรับประกันโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นบริษัทระดับโลกมีศักยภาพ (Capacity)ค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมาเข้าไปร่วมหลายโครงการแล้วทั้งเมกะโปรเจ็กต์ และรถไฟความเร็วสูง

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัยฯ กล่าวว่าบริษัทกำลังฟอร์มทีมที่จะรับงานเมกะโปรเจ็กต์ตามนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายงาน Non motor ซึ่งหากผลศึกษามีความเป็นไปได้อาจเห็นบริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมรับประกันภัยโครง การภาครัฐอีก 2-3 ปีข้างหน้า 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3526 วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2562