‘PACE’ฮึดสู้ปลด‘C’  เร่งเจรจา SCB ปรับหนี้ 

28 พ.ย. 2562 | 07:42 น.

เพซ แจงแนวทางแก้ไขกรณีถูกเครื่องหมาย  C  ดิ้นทุกทางเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับแบงก์ไทยพาณิชย์ หลังไตรมาส 4 จำหน่ายหุ้นบริษัทย่อยลดภาระหนี้ลง 1.51 พันล้านบาท  ปรับโครงสร้างธุรกิจ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ลดรายจ่ายคุมต้นทุน

นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ PACE แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) เนื่องมาจากหลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมายC” จากการที่ฐานะการเงินในงบการเงินไตรมาส 3/2562 แสดงส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว  (โดย สิ้นเดือนกันยายน 2562 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น  261.64 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วอยู่ที่ 14,373 ล้านบาท)

บริษัทได้จัดประชุมในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562   และได้สรุปถึงแนวทางในการดำเนินงานของบริษัทแล้วดังนี้

1. บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะเจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องสำหรับการเตรียมแผนปรับโครงสร้างทางการเงินในการแก้ไขปัญหาทางการเงินรวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป

2. ด้านการปรับโครงสร้างทางการเงินบริษัทได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อแจ้งถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการผิดนัดในมูลหนี้โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติในแต่ละวาระสรุปได้ดังนี้

2.1) อนุมัติยกเว้นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิข้อ 11.1 () เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้กับ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 84.8775 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

2.2) อนุมัติแก้ไขวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปเป็นเวลา 3 ปีจากเดิมครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ .. 2563 เป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ .. 2566 โดยผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมด ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 81.8565 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

 2.3) อนุมัติแก้ไขอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้คงอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยที่ผู้ออกหุ้นกู้จะชำระดอกเบี้ยทุกๆ ไตรมาสในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.0 ต่อปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 และผู้ออกหุ้นกู้จะชำระดอกเบี้ยส่วนต่างในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปีของทุกๆ งวดเมื่อมีการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 78.0991 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

‘PACE’ฮึดสู้ปลด‘C’  เร่งเจรจา SCB ปรับหนี้ 

2.4) อนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในข้อกำหนดสิทธิในข้อต่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาอนุมัติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 จึงต้องแก้ไขข้อความในข้อกำหนดสิทธิดังต่อไปนี้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 80.1652 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

2.5) อนุมัติยกเว้นหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ตามข้อกำหนดสิทธิข้อ 7.5 เรื่อง ผู้ออกหุ้นกู้จะดำรงไว้ซึ่งอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น วันสิ้นปีบัญชีตลอดอายุของหุ้นกู้ตามงบการเงินรวมประจำปีของผู้ออกหุ้นกู้เป็นอัตราส่วนไม่เกิน 5.50 ต่อ 1 (ห้าจุดห้าศูนย์ต่อหนึ่ง) ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 83.4710 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

2.6) อนุมัติเลื่อนการชำระดอกเบี้ยงวดเดือนพฤศจิกายน 2562 ไปเป็นชำระไม่เกินกว่าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 87.5000 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

3. ด้านการปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่บริษัทประสบอยู่ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีบริษัทได้ทำการจำหน่ายหุ้นในบริษัทย่อย ซึ่งสามารถลดภาระหนี้ของบริษัทได้ 1.51 พันล้านบาท 

 

‘PACE’ฮึดสู้ปลด‘C’  เร่งเจรจา SCB ปรับหนี้ 

ส่วนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม “ดีนแอนด์ เดลูก้าได้ดำเนินการดังนี้

1. ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ โดยการแบ่งแยกตามภูมิภาค เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องต่อภูมิภาคนั้นๆ มากขึ้น

2. ปรับโครงสร้างในการบริหารโดยแยกบริษัทอเมริกาและเอเชียออกจากกัน เพื่อให้เข้ากับภาวะตลาดฟู้ดรีเทลที่ท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในอเมริกา โดยอยู่ในระหว่างการปรับขนาดธุรกิจให้เหมาะสมควบคุมค่าใช้จ่าย และควบรวมการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในสาขาที่ไม่สามารถทำยอดขายและกำไรได้ตามเป้าหมาย

3. หยุดการขาดทุนสำหรับสาขาทั้งหมดในประเทศสหรัฐฯภายในสิ้นปี 2562

4. แสวงหาโอกาสในการพลิกฟื้นธุรกิจจากการผ่านช่องทางการขายแฟรนไชส์กับคู่ค้าอื่นๆในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก เช่น ทวีปยุโรป, อเมริกาเหนือและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย

5. การขยายสาขาในช่วงครึ่งปีหลังเป็นไปตามแผน โดยสาขาแฟรนไชส์ 2 สาขาแรกได้ทำการเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 3   อีก 2 สาขาของบริษัทจะเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี

6. ธุรกิจในประเทศไทยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2561 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ และกลยุทธ์ด้านการตลาดที่สำเร็จไปตามแผนที่เตรียมไว้ได้ส่งผลด้านประสิทธิภาพในการทำกำไรของสาขาของบริษัท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,526 วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2562

                      ‘PACE’ฮึดสู้ปลด‘C’  เร่งเจรจา SCB ปรับหนี้