"นิติธร"ร้องคลัง หยุดจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์

22 พ.ย. 2562 | 09:58 น.

ทนายนิติธร ยื่นหนังสือคลังพร้อม 3 หน่วยงาน เรียกร้องตั้งคณะทำงานตรวจสอบสัญญาโฮปเวลล์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยั้งการจ่ายค่าเสียหาย 24,000 ล้านบาท ชี้ ลงนาม-จัดตั้งบริษัทคู่สัญญาไม่ถูกต้อง พบโอนซื้อขายหุ้นเข้าข่ายค้าความ วอนรัฐเร่งตรวจสอบด่วน ก่อนถึงกำหนดจ่ายหนี้ 

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่า ได้มายื่นหนังสือให้กับปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้ตรวจสอบข้อมูลการทำสัญญาของโครงการก่อสร้างทางด่วนและทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร(โฮปเวลล์) ในปี 2533 ที่พบข้อมูลถึงความผิดปกติในการลงนามสัญญาการก่อสร้าง ดังนั้นสัญญาจึงควรเป็นโมฆะ และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหายตามที่บริษัท โฮปเวลล์ เรียกร้อง ซึ่งปัจจุบันวงเงินค่าเสียหายรวม 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และการชดเชยดอกเบี้ยอีก 12,000 ล้านบาท 

"นิติธร"ร้องคลัง หยุดจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์

ดังนั้นต้องการให้ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งให้กระทรวงการคลังยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้งดการบังคับคดีชั่วคราว เพื่อตรวจสอบการลงนามสัญญาดังกล่าวใหม่ ว่าสุดท้ายแล้วการลงนามในครั้งนั้นไม่ถูกต้อง และถือเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งหากเป็นโมฆะจะต้องไม่เสียค่าเสียหายดังกล่าว


ทั้งนี้ในหนังสือที่มายื่นต่อ 4 หน่วยงานนั้น มีเนื้อหาใจความที่แสดงให้เห็นข้อมูลที่พบนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการลงนามสัญญาการก่อสร้างระหว่างกระทรวงคมนาคม รฟท. และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เนื่องจากตามมติครม.ก่อนหน้านี้ ให้อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมลงนามร่วมกับบริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) แต่ผู้ลงนามจริงกลับเป็นบริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย ซึ่งขัดต่อมติครม.อย่างเห็นได้ชัด 

"นิติธร"ร้องคลัง หยุดจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบบริษัทดังกล่าว พบว่าจดทะเบียนบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เนื่องจากการขอจัดตั้งบริษัทขณะนั้น หากเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง จะต้องออกพระราชกฤษฎีกายกเว้น ตามคำสั่งคณะปฎิวัติ พ.ศ.2515 ซึ่งตรวจพบว่าไม่ได้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) แต่อย่างใด ทำให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวไม่เป็นนิติบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมาย 

“เป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนตัว ว่าเราไม่ควรจ่ายค่าชดเชยเหล่านี้ให้บริษัทคู่สัญญาที่ฟ้องร้องเรา เพราะบริษัทนี้ไม่ใช่คู่สัญญาแต่แรก และก็พบว่าจัดตั้งบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก และเมื่อเซ็นสัญญาแล้วกลับได้สิทธิประโยชน์การลงทุนจาก BOI อีก ดังนั้นจึงเรียกว่าเป็นสัญญาผูกพันที่เราจะต้องจ่ายค่าเสียหายได้หรือไม่ เพราะจากข้อสังเกตุพบว่าไม่มีข้อผูกพันตามสัญญาตั้งแต่แรก”นายนิติธร กล่าว 

"นิติธร"ร้องคลัง หยุดจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์

นอกจากนี้ นายนิติธร ยังตั้งสังเกตว่า ในปี 2548 พบการขายหุ้น 90% เป็นวงเงิน 500 ล้านบาท ของบริษัทโฮปเวลล์(ฮ่องกง) และบริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย) ให้กับบริษัท ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด ที่ไม่มีการดำเนินกิจการ จึงส่อให้เข้าใจว่าเป็นการค้าความ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้ ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวใหม่อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อนถึงวันครบกำหนดการชำระหนี้