เทรดวอร์ ยืดเยื้อ  หั่นกำไรหุ้นกลุ่มพลังงาน

20 พ.ย. 2562 | 04:10 น.

ปตท.ครองแชมป์บจ.ที่ได้กำไรสูงสุดงวดไตรมาส 3 ปี 2562 สวนทางการบินไทยขาดทุนยับ ด้านบล.เอเซีย พลัสฯ เผยสงครามการค้ายืดเยื้อฉุดงบบจ.อิงเศรษฐกิจโลก พร้อมปรับลดประมาณการรายตัว ชี้พลังงาน-ปิโตรเคมีลดมากที่สุด

รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ได้ทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562 และงวด 9 เดือน ปี 2562 โดย วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 บจ.ที่จดทะเบียนใน SET มีกำไรสุทธิสูงสุด คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) อยู่ที่ 20,254.48 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 14,798.35 ล้านบาท และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) อยู่ที่ 11,018.96 ล้านบาท ส่วนบจ.ที่มีผลขาดทุนสุทธิมากที่สุด คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) อยู่ที่ 4,681.50 ล้านบาท บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) อยู่ที่ 1,320.73 ล้านบาท และ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) อยู่ที่ 1,295.26 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี 2562 มีบจ.รายงานผลการดำเนินงานแล้วจำนวน 585 บริษัท คิดเป็น 92% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ทั้งตลาด ซึ่งไม่รวมผลการดำเนินงานรายปี อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ที่จะประกาศวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยทำกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 213,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2562 แต่ลดลง 17.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2561

เทรดวอร์ ยืดเยื้อ  หั่นกำไรหุ้นกลุ่มพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แรงกดดันจากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงาน ตาม ... คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แต่ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ฉุดผลการดำเนินงานโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก อาทิ กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี รวมถึงกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ถูกกดดันจากราคาขายปิโตรเลียมที่ลดลงตามราคานํ้ามันดิบดูไบเฉลี่ยที่ลดลง, การบันทึกขาดทุนจากสต๊อกนํ้ามัน รวมถึง spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ที่ลดลง ส่วนกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ถูกกดดันจากคำสั่งซื้อชะลอตัวและเงินบาทแข็งค่า

 

ขณะที่กลุ่มอิงปัจจัยในประเทศ กำไรสุทธิเติบโตดีทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์, กลุ่มสื่อสาร, กลุ่มโรงพยาบาล ยกเว้น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่มีแรงกดดันจากงานโครงการภาครัฐที่ยังมีความล่าช้า และกลุ่มอสังหาฯ โดยเฉพาะกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV)

สำหรับกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 2562 อยู่ที่ 696,000 ล้านบาท ลดลง 15.20% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือน ปี 2561 ที่อยู่ที่ 821,000 ล้านบาท โดยคิดเป็น 69.58% ของประมาณการทั้งปี 2562 ที่ประเมินไว้ที่ 999,000 ล้านบาท

เทรดวอร์ ยืดเยื้อ  หั่นกำไรหุ้นกลุ่มพลังงาน

 

ทั้งนี้ ได้มีการปรับประมาณการกำไรรายหุ้นทั้งขึ้นและลง โดยได้ปรับเพิ่มประมาณการมีจำนวน 13 บริษัท รวม 11,900 ล้านบาท ซึ่งบริษัทที่มีการปรับประมาณการขึ้นมากที่สุด ได้แก่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) และบริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MSC) ขณะที่บริษัทที่มีการปรับลดประมาณการมีจำนวน 44 บริษัท รวม 48,100 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี

ภาพรวมจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการปรับลดประมาณการกำไรบจ.มากกว่าปรับขึ้น และการปรับประมาณการดังกล่าว คาดว่าอาจทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ลดลงจากประมาณการเดิมประมาณ 36,200 ล้านบาท หรือลดลง 3.6% มาอยู่ที่ 964,000 ล้านบาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562

                    เทรดวอร์ ยืดเยื้อ  หั่นกำไรหุ้นกลุ่มพลังงาน