เปิดแผน ‘ฐิติกร’  รับมือตลาด 2 ล้อชะลอ  เร่งตัดหนี้สูญ คุมเข้มสินเชื่อ

21 พ.ย. 2562 | 02:00 น.

สัมภาษณ์

ทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หลายสำนักวิจัยต่างตบเท้าออกมาหั่นประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลง และเห็นตรงกันว่า ไม่ถึง 3% แน่ ผลจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อและเริ่มส่งผลกระทบกระจายวงกว้างมากขึ้น นอกจากภาคส่งออกที่ติดลบ ราคาเกษตรยังไม่ฟื้นตัว กำลังซื้อในประเทศหดตัว ส่งผลไปยังความต้องการตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เริ่มชะลอตัวลงและประเมินว่าทั้งปี 2562 ยอดขายน่าจะติดลบ

นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศ สะท้อนภาพธุรกิจและภาพรวมตลาดปี 2562 ผ่านฐานเศรษฐกิจว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้น่าจะติดลบ 3% จากยอดขายปีก่อนที่ 1.78 ล้านคัน  เพราะผ่านมา 9 เดือนแล้ว ยอดขายอยู่ที่ 1.32 ล้านคัน ติดลบ 2.8% ซึ่งหากดูไตรมาสแรก ติดลบทั้งเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเป็นบวกได้ในเดือนมีนาคม แต่ไตรมาส 2 ติดลบทั้ง 3 เดือน และกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม ดังนั้นทั้งปีน่าจะติดลบ 3% เพราะไทยเจอภาวะแล้ง ราคาเกษตรไม่ดี ยางพารา ปาล์ม รายได้ไม่มา ส่งออกก็ไม่ดี จีดีพีปรับลดลงแต่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นต่อเนื่อง 78-79% แม้ว่าภาครัฐจะเร่งลงทุน กระตุ้นผ่านโครงการชิม ช้อป ใช้ และการท่องเที่ยวยังพอขยายตัว แต่คงไม่เป็นบวกกับเศรษฐกิจมากนัก

เปิดแผน ‘ฐิติกร’  รับมือตลาด 2 ล้อชะลอ  เร่งตัดหนี้สูญ คุมเข้มสินเชื่อ

ประพล พรประภา

จากแนวโน้มตลาดจักรยานยนต์ที่ชะลอตัวรวมถึงการส่งสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการกำกับดูแลสินเชื่อคุมเข้มมากขึ้น ทำให้บริษัทระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ไม่เน้นขยายตัวในอัตราสูงๆ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงเริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ชำระหนี้กระท่อนกระแท่นมากขึ้น บริษัทได้เร่งตัดหนี้สูญเร็วขึ้น หลังเห็นสัญญาณ ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างลดลง 6% จากยอดคงค้างสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 9,224 ล้านบาท มาอยู่ที่ 8,603 ล้านบาท สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งปีที่ 10% หรือ 8,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่เน้นแข่งขันที่ราคาแต่เน้นคุณภาพ ส่งผลให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% และพิจารณาคุณสมบัติลูกค้ามากขึ้น นอกจากความสามารถในการชำระหนี้และเงินดาวน์แล้ว ยังรวมไปถึงอาชีพผู้กู้ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกและเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบรวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระบางกลุ่ม โดยปัจจุบันมียอดคำขอสินเชื่อที่เข้ามาเฉลี่ย 1 หมื่นรายต่อเดือน หรือราว 300-400 ล้านบาท

 

ตลาดรถยนต์ จะเห็นว่าทุกคนเริ่มแตะเบรกกันหมด ดูจากยอดขายช่วง 5 เดือนแรกยังเป็นบวก แต่เข้าเดือนที่ 6-8 เริ่มติดลบและยอด 8 เดือนอยู่ที่ 6.85 แสนคัน ทั้งปีน่าจะได้ใกล้เคียงปีก่อน ส่วนจักรยานยนต์เราให้ความระมัดระวัง เร่งตัดหนี้สูญตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปีก่อนต่อเนื่องถึงปีนี้ ทำให้พอร์ตหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงไปด้วย ปัจจุบันอยู่ที่ 4.6% และจะดุูแลให้อยู่ในระดับนี้หรือดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้กดดันด้านผลประกอบการ เพราะเรามองว่าปีนี้น่าจะชะลอ

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศนั้น นายประพลเล่าว่า ภายในไตรมาส 4 บริษัทจะเปิดสาขาในเมียนมา หลังจากได้รับใบอนุญาต (License) จากทางการเมียนมาในการประกอบธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ภายใต้ชื่อบริษัท มิงกะลาบา ฐิติกร ไมโครไฟแนนซ์ จำกัด”(Mingalaba Thitikorn Microfinance) โดยจะเปิดสาขาแรกที่เมืองหงสาวดี หรือพะโค เพื่อดำเนินธุรกิจเช่าซื้อจักรยานยนต์รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งช่วงแรกจะทดลองทำตลาดก่อน เพื่อดูความเสี่ยงและผลตอบรับ แล้วค่อยๆ ขยายธุรกิจและสาขาไปยังเมืองอื่นๆ ในเมียนมาต่อไป

 

ส่วนธุรกิจเช่าซื้อในกัมพูชาและสปป.ลาวยังขยายตัวเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ประชากรมีจำนวนมากและที่สำคัญสัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับไทย จึงสามารถขยายธุรกิจได้ แต่ยังไม่สามารถช่วยพยุงการเติบโตโดยรวมของไทยได้ เนื่องจากสัดส่วนธุรกิจในต่างประเทศยังน้อยไม่ถึง 20% โดยพอร์ตสินเชื่อรวมของกัมพูชาและสปป.ลาวอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังคงเดินหน้าขยายสาขา โดยในกัมพูชาตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีก 6 แห่งจากปัจจุบันมี 6 แห่ง และสปป.ลาวตั้งเป้าเปิดอีก 3 แห่ง จากที่มีอยู่ 3 แห่ง

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562

                     เปิดแผน ‘ฐิติกร’  รับมือตลาด 2 ล้อชะลอ  เร่งตัดหนี้สูญ คุมเข้มสินเชื่อ