BJCบิ๊กล็อต ครึ่งเดือนพ.ย. โวลุ่ม3.7พันล. 

20 พ.ย. 2562 | 05:39 น.

เผยเดือนพฤศจิกายน 2562 พบบิ๊กล็อตหุ้น BJC จำนวน 4 รายการ รวม 78 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 3,726.50 ล้านบาท โบรกมองไม่ฟันธงปรับโครงสร้างธุรกิจ ชี้แยกกลุ่มค้าปลีก-การผลิตเสี่ยง หวั่นมูลค่าหาย

รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในการซื้อขายหุ้นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 พบการซื้อขายบนกระดานรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) ของหุ้น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) สูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 17 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 46.75 บาท มูลค่ารวม 794.75 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังมีการขายบิ๊กล็อตจำนวน 16 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 45.50 บาท มูลค่ารวม 728 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 13 พฤศจิกายน มีการขายบิ๊กล็อตจำนวน 20 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 49.25 บาท มูลค่ารวม 985 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน มีการขายบิ๊กล็อตจำนวน 25 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 48.75 บาท มูลค่ารวม 1,218.75 ล้านบาท รวมเดือนพฤศจิกายน มีรายการบิ๊กล็อต 4 รายการ จำนวน 78 ล้านหุ้น มูลค่า 3,726.50 ล้านบาท

ราคาหุ้น BJC ปิดการซื้อขายวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 46.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 1.09% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 954.24 ล้านบาท จากราคาปิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 45.75 บาท ด้านราคาปิดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 46.00 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 3.16% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,590.72 ล้านบาท จากราคาปิดวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 47.50 บาท

ส่วนราคาปิดวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 49.50 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 0.50% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 52.36ล้านบาท และราคาปิดวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 49.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.51% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,346.71 ล้านบาท จากราคาปิดวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 49.00 บาท

BJCบิ๊กล็อต ครึ่งเดือนพ.ย. โวลุ่ม3.7พันล.                         

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เปิดเผยว่า การซื้อขายบิ๊กล็อตของหุ้น BJC ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม
“สิริวัฒนภักดีหรือไม่ เพราะถึงแม้บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 66.80% แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะถูกขาย โดยส่วนของสถาบันที่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2-3 ซึ่งอาจจะเป็นการขายในบัญชีที่นักลงทุนฝากไว้กับกองทุนดังกล่าว หรือเป็นการขายระหว่างใครกับใครก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการปรับโครง สร้างธุรกิจ มองว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งกลุ่มสิริวัฒนภักดีได้ปรับโครงสร้างไปแล้ว คือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) หากจะปรับโครงสร้าง BJC ซึ่งมีทั้งกลุ่มค้าปลีกและส่วนการผลิต จะทำให้มูลค่าลดลง โดยกระแสในปัจจุบันตลาดจะให้นํ้าหนักกลุ่มค้าปลีกสูงกว่าการผลิต ถ้าทั้ง 2 กลุ่มยังรวมกันอยู่ จะมีมูลค่าที่เหมาะสม แต่หากแยกกัน กลุ่มการผลิตจะลดความน่าสนใจลงทันที

 

บล.ทิสโก้ฯ ระบุว่า ผลประกอบการ BJC ไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 1,770 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 16.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยรายได้จากการขายและบริการที่คงที่ โดยธุรกิจ MSC นั้นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของสินทรัพย์ให้เช่าและค่าเช่า ด้าน SSSg อ่อนแอลง ส่วน PSC ยอดขายกระป๋องลดลง แต่ยอดขายขวดแก้วเพิ่มขึ้น แนะนำให้ซื้อมูลค่าที่เหมาะสม 61.00 บาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562

                    BJCบิ๊กล็อต ครึ่งเดือนพ.ย. โวลุ่ม3.7พันล.