แนะ2วิธี "คุมเข้ม" ประกันสังคมปล่อยกู้

17 พ.ย. 2562 | 08:53 น.

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ สงสัย "ประกันสังคม" ทำไมลงทุนได้ดอกเบี้ยน้อย แนะ2วิธีคุมเข้ม ถ้าคิดจะปล่อยกู้หรือลงทุน

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ให้กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคม ให้เกิดประโยชน์และตอบสนองแก่ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เช่น การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ

 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยที่จะมีการบริหารจัดการเงินของกองทุนประกันสังคม ให้ดีขึ้น และแนวคิดให้ปล่อยกู้ก็มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ปล่อยกู้ทั้งหมด ต้องกำกับบางส่วนว่าจะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภท เป็นการกระจายความเสี่ยง และไม่ต้องมุ่งเน้นกำไรมากเกินไป ซึ่งอาจมีดอกเบี้ยจากผลตอบแทนประมาณ 1-5% 

 

“ปล่อยกู้เองผมคิดว่าน่าจะทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับรูปแบบวิธีการว่าจะทำอย่างไร การบริหารจัดการ แต่ในทางวิชาการถามว่าควรหรือไม่ ผมก็ตอบว่าผลตอบแทนในปัจจุบันของกองทุนยังน้อยไป จากเงินกองทุนทั้งหมด 2.1 ล้านล้านบาท ทำกำไรได้แค่กว่า 5 พันล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.3 % เทียบกับฝากประจำยังได้ดอกเบี้ย 1-3%  ทั้งที่น่าจะทำกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ควรจะมีการทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปล่อยกู้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะต้องมีกลไกที่ดี”
    

แนะ2วิธี "คุมเข้ม" ประกันสังคมปล่อยกู้

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร


สำหรับวิธีปล่อยกู้ที่มีประสิทธิภาพ คือ 1.ต้องพิจารณาแรงงานในระบบที่ทำงานยาวนาน มีการจ่ายประกันสังคมระยะหนึ่งต่อเนื่องมา ไม่ตกงาน ถ้าปล่อยกู้กับกลุ่มนี้ไม่น่าจะขาดทุน 2.ภาครัฐอย่าทำเรื่องนี้เองเพราะอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ให้หามืออาชีพมาทำ และกำหนดการประเมิน หรือ KPI ให้ชัดเจน เช่น ดึงผู้บริหารกองทุนขนาดใหญ่เข้ามา เช่น ภัทร ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย หรืออาจจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาก็ได้

ดร.นณริฏ กล่าวอีกว่า เคยได้ยินแนวคิดของการนำเงินประกันสังคมมาปล่อยกู้นานแล้วในหลายรูปแบบ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนถังรวม ผู้ที่เข้าประกันตนก็จ่ายเข้ามา ระยะแรกไม่มีปัญหาเพราะคนจ่ายมีมากแต่คนเบิกมีน้อย แต่อนาคตอาจจะมีปัญหาเพราะเข้าสู่สังคมสูงวัย จะมีคนเบิกมากขึ้นขณะที่คนจ่ายมีน้อยลง จึงต้องมีการปรับระบบหรือรูปแบบ ซึ่งมีงานวิจัยที่มีหลายข้อเสนอ โดยหนึ่งในเป้าหมายคือทำให้กองทุนมีผลตอบแทนมากขึ้น