‘นายกฯ’ลุยไฟ ประกันสังคม ปล่อยกู้สมาชิก

16 พ.ย. 2562 | 07:12 น.

“บิ๊กตู่” สั่งประกันสังคมหาแนวทางปล่อยกู้เงินกองทุน 2 ล้านล้าน นักวิชาการทีดีอาร์ไอหนุนใช้มืออาชีพบริหาร ชี้ที่ผ่านมาได้ผลตอบแทนแค่ 0.3% ตํ่ากว่าศักยภาพอื้อ แต่ต้องไม่เสี่ยงสูง ด้าน “วิษณุ” ชี้จะทำต้องแก้กฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ให้กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคม ให้เกิดประโยชน์และตอบสนองแก่ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เช่น การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ
    

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นด้วยที่จะมีการบริหารจัดการเงินของกองทุนประกันสังคม ให้ดีขึ้น และแนวคิดให้ปล่อยกู้ก็มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ปล่อยกู้ทั้งหมด ต้องกำกับบางส่วนว่าจะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภท เป็นการกระจายความเสี่ยง และไม่ต้องมุ่งเน้นกำไรมากเกินไป ซึ่งอาจมีดอกเบี้ยจากผลตอบแทนประมาณ 1-5% 
  

 “ปล่อยกู้เองผมคิดว่าน่าจะทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับรูปแบบวิธีการว่าจะทำอย่างไร การบริหารจัดการ แต่ในทางวิชาการถามว่าควรหรือไม่ ผมก็ตอบว่าผลตอบแทนในปัจจุบันของกองทุนยังน้อยไป จากเงินกองทุนทั้งหมด 2.1 ล้านล้านบาท ทำกำไรได้แค่กว่า 5 พันล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.3 % เทียบกับฝากประจำยังได้ดอกเบี้ย 1-3%  ทั้งที่น่าจะทำกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ควรจะมีการทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปล่อยกู้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะต้องมีกลไกที่ดี”
    

สำหรับวิธีปล่อยกู้ที่มีประสิทธิภาพ คือ 1.ต้องพิจารณาแรงงานในระบบที่ทำงานยาวนาน มีการจ่ายประกันสังคมระยะหนึ่งต่อเนื่องมา ไม่ตกงาน ถ้าปล่อยกู้กับกลุ่มนี้ไม่น่าจะขาดทุน 2.ภาครัฐอย่าทำเรื่องนี้เองเพราะอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ให้หามืออาชีพมาทำ และกำหนดการประเมิน หรือ KPI ให้ชัดเจน เช่น ดึงผู้บริหารกองทุนขนาดใหญ่เข้ามา เช่น ภัทร ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย หรืออาจจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาก็ได้
    

ดร.นณริฏ กล่าวอีกว่า เคยได้ยินแนวคิดของการนำเงินประกันสังคมมาปล่อยกู้นานแล้วในหลายรูปแบบ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนถังรวม ผู้ที่เข้าประกันตนก็จ่ายเข้ามา ระยะแรกไม่มีปัญหาเพราะคนจ่ายมีมากแต่คนเบิกมีน้อย แต่อนาคตอาจจะมีปัญหาเพราะเข้าสู่สังคมสูงวัย จะมีคนเบิกมากขึ้นขณะที่คนจ่ายมีน้อยลง จึงต้องมีการปรับระบบหรือรูปแบบ ซึ่งมีงานวิจัยที่มีหลายข้อเสนอ โดยหนึ่งในเป้าหมายคือทำให้กองทุนมีผลตอบแทนมากขึ้น
    

ด้านนางสาวอรุณี ศรีโต ที่ปรึกษากลุ่มแรงงานนอกระบบ และรักษาการคณะกรรมการประกันสังคมจากสัดส่วนผู้ประกันตน กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม คาดว่าในการประชุมวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้อาจมีการแจงรายละเอียด ซึ่งต้องดูก่อนว่ามีเงื่อนไขแนวทางที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามเงินกองทุนประกันสังคมนั้นเป็นเงินของลูกจ้าง-นายจ้างร่วมกันเป็นหลัก โดยมีภาครัฐร่วมสมทบส่วนหนึ่ง แต่เวลาจะทำอะไรกับเงินก้อนนี้รัฐก็มักจะเป็นฝ่ายนำหน้าก่อน
    

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะถ้านำเข้าตนต้องทราบรายละเอียด ซึ่งหากจะมีการใช้เงินกองทุนประกันสังคม จะให้ ครม.อนุมัติได้หรือไม่ ยังตอบไม่ถูก หากติดเรื่องข้อกฎหมาย ครม.ก็ไม่สามารถอนุมัติได้ แต่เข้าใจว่าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคม ว่าสามารถนำเงินมาใช้ได้หรือไม่ รวมถึงวิธีการใช้ว่าจะต้องใช้อย่างไร ทางกระทรวงก็คงจะมีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะหากจะทำจะต้องแก้กฎหมาย
    

ระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมไว้ พ.ศ.2559 วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ให้สำนักงานประกันสังคมลงทุนได้ตามสัดส่วนคือ 1.ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ไม่น้อยกว่า 60% ของเงินกองทุน เช่น เงินฝากในแบงก์รัฐ แบงก์พาณิชย์ พันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยให้ทำได้ 17 ลักษณะ และ 2.ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่เกิน 40% ซึ่งมีกรอบกำหนดให้ทำได้ใน 19 ลักษณะ รวมทั้งกำหนดด้วยว่า ในการลงทุนให้ลงทุนทางสังคมเพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้างและผู้ประกันตนได้ไม่เกิน 10% โดยระเบียบนี้ยังไม่เปิดให้สำนักงานปล่อยกู้โดยตรง
    

จากเงื่อนไขให้ลงทุนทางสังคมได้ดังกล่าว ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมเคยทำโครงการเพื่ออำนวยสินเชื่อ แต่ทำผ่านสถาบันการเงิน ไม่ได้ปล่อยกู้ตรงแก่ผู้ประกันตน อาทิ “สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน” ให้แก่ผู้ประกอบการในปี 2555 และ 2561 ลดภาระจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า แลกกับการไม่ปลดพนักงาน หรือการลดภาระสินเชื่ออสังหาฯให้ผู้ประกันตนในการซื้อหรือรีไฟแนนซ์บ้านในปี 2553 
    

กองทุนประกันสังคมเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2534 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 เงิน กองทุนประกันสังคมตามงบการเงินมีจำนวน 2,177,473 ล้านบาท จัดสรรไปลงทุนทั้งสิ้น 2,055,040 ล้านบาท (94.38%) โดยลงทุนในหลักทรัพย์มั่นคงสูง 79.42% หลักทรัพย์เสี่ยง 20.58% เป็นการลงทุนในประเทศ 89.86% ต่างประเทศ 10.14% 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พ.ย.2562