เคาะค่าบริการ NDID เชื่อมนิติบุคคล

20 พ.ย. 2562 | 00:10 น.

เคาะค่าบริการ NDID 3ส่วนรวมไม่เกิน 300 บาท-รุกคืบเชื่อมนิติบุคคลเปลี่ยนรูปแบบประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หลังปูพรมบุคคลทั่วไป

       

คืบหน้าความสำเร็จด่านแรกของ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) หลังจากร่วมทดสอบการเชื่อมระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนระหว่างสมาชิกกว่า 30 บริษัท และมีความพร้อมปฏิบัติจริงในการให้บริการแก่ประชาชน ภายใต้ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในเดือนธันวาคม 2562

นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท NDID กล่าวว่า กลุ่มธนาคารนำร่อง 10 แห่ง จะเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ของธปท.เดือนธันวาคมนี้ โดยแต่ละธนาคารต้องตกลงเงื่อนไขและปฏิบัติตาม ... ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดก่อนจะออกจากแซนด์บ็อกซ์ และให้บริการทำธุรกรรมตามประเภทที่ธนาคารถนัด ซึ่งหลังจากเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม(consent) 
ทุกธนาคารจะสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดบริการรูปแบบต่างๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น อนุมัติสินเชื่อ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการทั้งรวดเร็วและปลอดภัย

 

เคาะค่าบริการ NDID  เชื่อมนิติบุคคล

 

แหล่งข่าวจากธนาคารสมาชิกระบุว่าในส่วนของการเชื่อมข้อมูลระหว่างสมาชิกนั้น กำหนดค่าใช้จ่ายออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ค่าธรรมเนียมแบ่งจ่ายให้กับบริษัท NDID ไม่เกินราคา 10 บาท/ธุรกรรม 2.ในส่วนของผู้รับบริการ แบ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยภาครัฐคิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 20-60 บาท/ธุรกรรม เช่น การโอนรถยนต์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กรมการขนส่งไม่เกิน 60 บาท หรือรวมเบ็ดเสร็จไม่เกิน 100 บาท และองค์กรเอกชนจะคิดค่าใช้จ่ายการใช้ข้อมูลระหว่างกันไม่เกิน 200 บาท/ธุรกรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม

นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เฟส 2 ยื่นเข้าแซนด์บ็อกซ์แล้ว ซึ่งรอ ธปท.อนุญาต(เคาะ) ภายใต้ NDID ทุกธนาคารสามารถรับสมัครลูกค้าบุคคลทั่วไปโดยใช้ฐานข้อมูลร่วมกันในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเดือนธันวาคม

เฟสแรกแต่ละแบงก์ต่างคนต่างทำ e-KYC เพื่อทำให้ลูกค้ามีมาตรฐานความปลอดภัยระดับ IAL 2.3 (Identity Assurance Level) ตามที่ ETDA กำหนดคือ ลูกค้าจะมีข้อมูลของบัตรประจำตัวประชาชนครบถ้วนบวกกับข้อมูล Biometric ที่ได้รับรองจากกรมการปกครองแล้วและใช้ใบหน้าเปรียบเทียบ ซึ่งทำให้ปลอดภัย รวดเร็ว และข้อมูลมีความเป็นส่วนตัวถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การให้บริการบุคคลธรรมดานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของ NDID จากนั้นจะเร่งใช้กับกลุ่มนิติบุคคลในปลายปีหน้า เพราะกรรมการนิติบุคคลทุกคนต้องมี Digital ID ก่อน แล้วค่อยเรียง Digital ID แต่ละบริษัทใครเป็นผู้รับมอบอำนาจ กลุ่มนิติบุคคลจึงเป็นหัวใจสำคัญของ NDID ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบประเทศที่จะเข้าสู่ Digital economy คือ นิติบุคคล โดยกสิกรไทยมีฐานลูกค้านิติบุคคลกว่า 2 ล้านราย จากทั้งหมด 4-5 ล้านราย

เคาะค่าบริการ NDID  เชื่อมนิติบุคคล

ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

 แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขยายความเพิ่มเติมว่า เรื่อง Ease of Doing Business ที่ทางธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟให้คะแนนกับประเทศไทย 20% ถ้าใช้ Digital ID เต็มรูปแบบคิดว่าภายในไม่เกิน 3 ปี คะแนนประเทศจะอยู่ตัวเลขเดียว

 

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ในปี 2563 ธนาคารมีเป้าหมายการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและต่อยอดจากเทคโนโลยีที่ไทยดำเนินการอยู่ เช่น National Digital ID หรือ NDID โดยธนาคารพยายามจะโยกลูกค้าขึ้นไปอยู่บนดิจิทัลให้มากที่สุด และพยายามเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดบัญชีออนไลน์ ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ คาดหวังว่าจะมีลูกค้าขึ้นไปอยู่บนดิจิทัลได้ราว 9-10 ล้านคน จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้งอยู่ที่ราว 8.5 ล้านราย

 

  1.  

อย่างไรก็ดี ฐานลูกค้าของธนาคารมีหลากหลายเซ็กเมนต์จึงต้องพิจารณาตามความพร้อมของลูกค้าที่จะเข้าสู่ดิจิทัล แต่ยอมรับว่าลูกค้าของธนาคารเปิดรับดิจิทัลมากขึ้น แต่กลยุทธ์การขยายฐานลูกค้ารายใหม่บุคคล อาจจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากลูกค้าใช้บริการหลายธนาคาร ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่ธนาคารกรุงเทพจะเน้นขยายผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรโดยใช้จุดแข็งร่วมกัน อาทิเช่น แรบบิท ไลน์ เพย์ แอร์เอเชีย หรือบีทีเอส เป็นต้น ซึ่งตอนนี้กำลังดูพันธมิตรรายอื่นด้วย

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562

เคาะค่าบริการ NDID  เชื่อมนิติบุคคล