ETFทองทั่วโลก  ถือทองคำมากสุดเป็นประวัติการณ์ ผลักดันอุปสงค์ทอง Q3/2019

13 พ.ย. 2562 | 23:00 น.

ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อุปสงค์ หรือความต้องการใช้ทองคำทั่วโลกนั้นประกอบไปด้วยอุปสงค์จาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) ภาคเครื่องประดับ (2) ภาคเทคโนโลยี (3)ภาคการลงทุน (ถูกแบ่งออกเป็นการลงทุนใน ETF ทองคำ และการลงทุนทองคำแท่งและเหรียญทอง) และ (4) ภาคธนาคารกลาง โดยจากรายงานล่าสุดของสภาทองคำโลกหรือ World Gold Council บ่งชี้ว่าอุปสงค์ทองคำในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1,107.9 ตัน โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ทองคำในภาค ETF ทองคำซึ่งเกิดการไหลเข้าของเงินทุนในปริมาณที่มากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2016

แม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แต่นับว่าการเข้าซื้อในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ยังอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไตรมาส 3 ปี 2018 โดยในไตรมาส 3 ของปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำปริมาณ 156.2 ตัน ลดลง -38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นสุดไตรมาส 3 ของปีนี้ พบว่าธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำแล้วทั้งสิ้น 547.5 ตัน ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง +12% ขณะที่มีธนาคารมากถึง 14 ประเทศรายงานว่าถือครองทองคำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ตันขึ้นไปในปีนี้ นำโดยธนาคารกลางรัสเซียที่ซื้อทองคำในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ในปริมาณ 55.3 ตัน, 38.7 ตัน และ 34.9 ตันตามลำดับ ตามมาด้วยธนาคารกลางจีนที่เข้าซื้อทองคำในไตรมาส 3 ของปีนี้ปริมาณ 21.8 ตัน และเข้าซื้อต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม  2018

ETFทองทั่วโลก  ถือทองคำมากสุดเป็นประวัติการณ์ ผลักดันอุปสงค์ทอง Q3/2019

อุปสงค์ทองคำในภาคเครื่องประดับปรับตัวลดลงถึง -16% สู่ระดับ 460.9 ตันในไตรมาส 3 และถือเป็นไตรมาสที่ซบเซาที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปีของราคาทองคำ และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในบางประเทศ

ขณะที่อุปสงค์ทองคำในภาคแท่งและและเหรียญทองลดลง -50% ในไตรมาส 3 ทำให้อุปสงค์ทองคำในภาคแท่งและและเหรียญทองลดลงสู่ระดับ 150.3 ตัน ซึ่งเป็นไตรมาสที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2008 โดยได้รับแรงกดดันหลัก คือ ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นทำให้นักลงทุนรายย่อยใช้โอกาสนี้ในการขายทำกำไรมากกว่าการเข้าซื้อ

แม้อุปสงค์ทองคำในด้านอื่นจะซบเซา แต่ปริมาณอุปสงค์ทองคำโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นได้ นำโดยอุปสงค์ทองคำในภาค ETF ที่เติบโตขึ้นอย่างมากจนช่วยชดเชยอุปสงค์ทองคำในภาคอื่นๆได้ โดยอุปสงค์ทองคำในภาค ETF ปรับตัวสูงขึ้น 258 ตันในไตรมาส 3 หรือ +110% สู่ระดับ 2,855.3 ตันแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งยังเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2016 โดยแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกที่เป็นไปในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ด้านธนาคารกลางยุโรป(ECB) กลับมาเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE อีกครั้ง บวกรวมกับความไม่แน่นอนทางด้านภูมิศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปริมาณตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ นั่นเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจต้องติดตามต่อว่าอุปสงค์ทองคำในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้จะเป็นเช่นไร เบื้องต้นหากอุปสงค์ทองคำในภาค ETF ทองคำและภาคธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่ง อาจช่วยลดผลกระทบจากอุปสงค์ในภาคเครื่องประดับและภาคการลงทุนทองคำแท่งที่ซบเซาลงได้ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาในอีกทางหนึ่ง ในทางกลับกัน หากเริ่มเห็นกระแสเงินทุนไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำก็จะเป็นสัญญาณเตือนให้นักลงทุนทองคำเพิ่มความระมัดระวังในการถือครองสถานะเช่นกัน

ที่มาข้อมูล : World Gold Council

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562 

                    ETFทองทั่วโลก  ถือทองคำมากสุดเป็นประวัติการณ์ ผลักดันอุปสงค์ทอง Q3/2019