‘ธนชาต’ ไม่ได้มีดีแค่ธนาคาร

13 พ.ย. 2562 | 09:10 น.

 

รายงาน

หากเอ่ยชื่อธนชาตคนส่วนใหญ่จะนึกไปถึงธนาคารธนชาต ผู้นำด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งกำลังจะรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กลายเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์รวมแตะ 2 ล้านล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 6 ของประเทศ ให้บริการลูกค้ากว่า 10 ล้านราย

 

ธนชาตไม่ได้มีดีแค่ธนาคาร

แท้จริงธนชาตไม่ได้มีดีแค่ธนาคารเพราะภายใต้อาณาจักรที่แข็งแกร่งของกลุ่มธนชาตที่มีบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เป็นบริษัทแม่ไม่ได้จำกัดเพียงธุรกิจธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังมีบริษัทลูกอีกหลายบริษัทที่ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลมายังความสามารถในการทำกำไรที่ยั่งยืนให้กับ TCAP

เมื่อดูถึงผลประกอบการของกลุ่มธนชาต ก็สามารถโชว์ฟอร์มดีมาได้ทุกครั้ง ครั้งล่าสุด ไตรมาส 3/2562 ธนาคาร ธนชาต และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 4,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 12.86% และเป็นกำไรสุทธิที่สูงเป็นสถิตินิวไฮ สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,296 ล้านบาท ในส่วนของ TCAP และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 4,616 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP 2,472 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 573 ล้านบาท หรือ 30.17% จากไตรมาสก่อน ส่วนงวด 9 เดือน กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP มีจำนวน 6,387 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากกลยุทธ์ของธนาคารธนชาต ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) มุ่งเน้นการเป็นธนาคารหลัก (Main Bank) ของลูกค้านั่นเอง

‘ธนชาต’  ไม่ได้มีดีแค่ธนาคาร

การนำธนาคารธนชาตไปรวมกิจการกับทีเอ็มบี ถือเป็นกลยุทธ์เหนือชั้นของ TCAP ซึ่งเป็น Financial Holding Company ชั้นนำของไทยที่ใช้เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว โดย TCAP จะได้รับประโยชน์และส่วนแบ่งจากการเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารหลังรวมกิจการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีศักยภาพในการเติบโตและทำกำไรได้มากขึ้นในอนาคต

 

TCAP รวมขุนพลการเงินของไทย

TCAP ยังเป็นกลุ่มการเงินที่เก่งในการปรับตัว สร้างแต้มต่อในวงการมาได้ดีตลอด แต่ละการเคลื่อนไหวเด็ดทุกครั้ง การเข้าไปลงทุนในทีเอ็มบีครั้งนี้ก็เช่นกัน คงมองเห็นโอกาสที่จะทำให้ตัวเองใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันยังเก็บเงินสดและการลงทุนชนิดผลตอบแทนสูงเอาไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมในโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแส Digital disruption ทั้งหมดนี้ก็ด้วยกลยุทธ์มาเหนือเมฆสำหรับคู่หู นายบันเทิง ตันติวิทและนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ นั่นเอง

บันเทิง และศุภเดช2 คู่หูสร้างความมหัศจรรย์ให้วงการเงินไทยมาตลอด 40 ปีก่อน ทั้งคู่จับมือกันเข้าไปฟื้นฟู ลีกวงมิ้ง ทรัสต์ จากทรัสต์เล็กๆ มีพนักงานไม่กี่คนเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาต เมื่อปี 2523 โบรกเกอร์หมายเลข 16 ประสบผลสำเร็จเป็นโบรกเกอร์อันดับต้นๆ ของประเทศและยังเป็นบริษัทเงินทุนเพียงไม่กี่แห่งที่ผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 มาได้

 

หลังวิกฤติปี 2540 ยังเป็นกลุ่มการเงินแรกที่ตั้งธนาคารขึ้นใหม่ ภายใต้ชื่อธนาคารธนชาต เมื่อปี 2545 จากนั้นขยายอาณาจักรการเงินครบวงจร ทั้งธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนประกันภัย ประกันชีวิต บริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมถึงเข้าไปลงทุนในบริษัทจดทะเบียนอื่น (MBK กับ PRG) ก่อนจะเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยการซื้อธนาคารนครหลวงไทยในปี 2553 แล้วนำมารวมกิจการเข้าด้วยกัน

วันนี้คนกลุ่มนี้ที่เป็นขุนพลธนชาต ไม่ว่าจะเป็นนายบันเทิง นายศุภเดช นางสาวสุวรรณภา สุวรรณประทีป และนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ที่สร้างแต้มต่อในวงการมาได้ดีตลอด แต่ละ Move เด็ดทุกครั้ง ครั้งนี้เด็ดยิ่งกว่าด้วยการนำ TCAP เข้าไปถือหุ้นทีเอ็มบี


 

 

ธนาคารใหม่ทหารไทยธนชาต

ธนาคารใหม่หลังรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ ชื่อที่ใช้ในภาษาไทยว่าทหารไทยธนชาตส่วนในภาษาอังกฤษ ชื่อTMB Thanachart Bank” โดยจะมีนายศุภเดช และนายสมเจตน์ เข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของธนาคารใหม่ด้วย

ด้วยศักยภาพของ TCAP จะส่งผลให้ธนาคารใหม่ แข็งแกร่ง และด้วยความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของธนาคารใหม่ จะสะท้อนผลกำไรที่ดีมาสู่ TCAP ขณะที่ TCAP ยังมีรายได้ที่ดีจากการลงทุนในบริษัทลูกทั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต ธนชาตฯประกันภัย ราชธานีลิสซิ่ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ ทีเอสฯ บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ฯ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอสฯ และ เอ็มบีเคไลฟ์ประกันชีวิต และยังมีการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ อีกด้วย เช่น MBK และ PRG”

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562

‘ธนชาต’  ไม่ได้มีดีแค่ธนาคาร