แบงก์เบนเข็ม ลุยรีไฟแนนซ์บ้าน 2 แสนล้าน

18 พ.ย. 2562 | 09:45 น.

 

แม้ช่วงโค้งท้ายปี 2562 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะได้รับปัจจัยหนุน ทั้งดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ทำให้ธนาคารหลายแห่งทยอยลดดอกเบี้ยตาม การลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01%  แต่สถาบันการเงินมองสิินเชื่อที่อยู่อาศัยโค้งท้ายยังหนืด เหตุเศรษฐกิจชะลอ และมาตรการ LTV ทำตลาดสะดุด เบนเข็มเจาะตลาดรีไฟแนนซ์กสิกรไทยมองตลาดน่าสนใจ เหตุมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ด้านซีไอเอ็มบี ไทยส่งสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านแลกเงินลงสู้ ส่วนกรุงศรีเน้นรักษาฐานลูกค้าให้แน่น

นายพจนารถ แสงพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ปีนี้ธนาคารพยายามมุ่งโฟกัสตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจจะชะลอจากภาวะเศรษฐกิจและมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ประกอบกับแม้ว่าผลตอบแทน(Yield) สินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยจะตํ่า แต่ความเสี่ยงก็ค่อนข้างตํ่า เช่นเดียวกัน แต่ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมมูลค่าตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทต่อปี จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างขยายตัวได้ดี ซึ่งกลยุทธ์การทำตลาดรีไฟแนนซ์นั้น ธนาคารจะต้องมีการเก็บข้อมูล Data ของลูกค้า เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมการรีไฟแนนซ์ของลูกค้า โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในกลุ่มรีไฟแนนซ์อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วราว 8,000 ล้านบาท

แบงก์เบนเข็ม  ลุยรีไฟแนนซ์บ้าน 2 แสนล้าน

ขณะที่เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งปีอยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 5-7% จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท โดยตัวเลข สิงหาคมธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 5.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทีมขายของธนาคารสามารถทำได้ดีสามารถประสานโครงการเข้าร่วมได้มากขึ้น ขณะเดียวกันตลาดในภูมิภาคขยายการเติบโตได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม

 

สินเชื่อเรายังโตได้ดีอยู่ เพราะทีมขายเราเก่งสามารถหาลูกค้าได้ ทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ยังไปได้ดี และคาดว่าจะทะลุเป้า โดยตลาดที่โตจะเป็นตลาดภูมิภาค และเน้นทำตลาดรีไฟแนนซ์ แม้ว่าจะยีลด์ตํ่าแต่ความเสี่ยงก็ตํ่าเช่นกัน โดยเทียบอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยใหม่ปัจจุบันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ MRR-1%”

 

แบงก์เบนเข็ม  ลุยรีไฟแนนซ์บ้าน 2 แสนล้าน

อรอนงค์ อุดมก้านตรง

ด้านนางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีวินัยทางการเงิน และเป็นกลุ่มที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป โดยได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านแลกเงิน คิดอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 4.44% ถือว่าอยู่ในระดับตํ่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อบ้านแลกเงินในระบบที่เสนอกันเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10% โดยอยู่ในช่วงทดลองตลาด 3 เดือนคาดว่าจะได้ยอดสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท หากได้ผลตอบรับค่อนข้างดีจะขยายวงเงินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การพิจารณาสินเชื่อจะดูจากศักยภาพ วินัยทางการเงิน ความสามารถผ่อนชำระ และกระแสเงินสด ซึ่งวงเงินปล่อยกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลาการผ่อนไม่ควรเกิน 15 ปี

ขณะที่เป้าหมายสินเชื่อที่อยู่อาศัยภาพรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน โดยเฉลี่ยปล่อยกู้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ 50% และสินเชื่อรีไฟแนนซ์อีก 50% ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างขยายตัวกว่า 10% จากช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะจบอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ค่อนข้างเสถียร เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้เปลี่ยนกลยุทธ์เน้นลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินและแข่งขันตาม Risk Base Pricing ทำให้เอ็นพีแอลเกิดใหม่ค่อนข้างตํ่าอยู่ที่ 0.5% หากรวมเอ็นพีแอลค้างเก่าจะอยู่ที่ 3.1%

ปัจจุบันตลาดรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินหันมาเสนอทางเลือกให้ลูกค้าค่อนข้างมาก ลูกค้าสามารถเลือกอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงเฉลี่ย 3 ปีแรกอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 2.7-3% ขณะที่ธนาคารเองก็หันมาดูแลลูกค้าตัวเองมากขึ้น เน้นการทำตลาดแบบเจาะเซ็กเมนต์ลูกค้าและความเสี่ยงมากขึ้น

 

 

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า ตลาดรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยปีนี้ไม่ได้หวือหวามากนัก ทุกคนพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์) ของตัวเองไว้ ซึ่งธนาคารเน้นแข่งขันไปตามภาวะตลาดผ่านสาขาธนาคาร โดยมองว่าจุดเด่นของตลาดรีไฟแนนซ์จะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและวงเงิน ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์เฉลี่ย 3 ปี มีทั้งที่สูงกว่า 3% และตํ่ากว่า 3% ขึ้นกับลูกค้า เช่น เป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารจะได้รับอัตราดอกเบี้ยตํ่า เป็นต้น เป็นไปตามนโยบายที่เน้นรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ รวมถึงจะเข้าไปพิจารณาว่าลูกค้าต้องการอะไร เช่น อัตราดอกเบี้ยหรือวงเงินเพิ่ม ธนาคารจะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,522 วันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2562

แบงก์เบนเข็ม  ลุยรีไฟแนนซ์บ้าน 2 แสนล้าน