‘ประกัน’สลบ พิษบาทแข็ง รายได้วูบ14%

30 ต.ค. 2562 | 23:35 น.

 

ธุรกิจประกันภัย โอดเงินบาทแข็งกดรายได้เบี้ยประกันวูบ “ทิพยประกันภัย” เบี้ยหายวับ 200-300 ล้านบาท เล็งปรับกลยุทธ์เจาะรายย่อย “BKI” พลิกเร่งบริหารความเสี่ยง-จัดประกันภัยต่อ

ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 14%

ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อการรับรู้รายได้ของธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากเมื่อตั้งแต่ต้นปีที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 14% สะท้อนถึงรายได้ที่หายไป 14% 

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัย (TGIA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ที่รับประกันภัยทางทะเล (มารีน) นํ้ามันและก๊าซ หรือแท่นขุดเจาะนํ้ามัน ซึ่งประเภทประกันภัยเหล่านี้จะรับเป็นเงินตราต่างประเทศหรือดอลลาร์สหรัฐฯ

“ค่าเงินบาทแข็ง เป็นปัจจัยกดดันรายได้ของธุรกิจประกันภัยเช่นกัน โดยในรายงานบัญชีจะมีระบุว่าขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไร ซึ่งแต่ละบริษัทจะไม่เท่ากัน เพราะต้องดูว่าพอร์ตรับประกันภัยที่รายรับเป็นเงินสกุลดอลลาร์”

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตประกันภัยในแง่เบี้ยลูกค้ารายใหญ่อยู่ที่ 50% และอีก 50% เป็นรายเล็ก จากการประเมินรายได้ที่หายไปจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอยู่ที่ราว 200-300 ล้านบาท แต่อัตราการต่ออายุกรมธรรม์ยังอยู่ในระดับเกือบ 100% ถือว่าค่อนข้างดี ประกอบกับในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทขยายเบี้ยประกันภัยลูกค้ารายเล็กได้ดีมีอัตราการเติบโต 10% ช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงจากค่าเงินได้ 

ดังนั้น ในช่วงที่เหลือ 2 เดือน บริษัทจะต้องปรับกลยุทธ์ค่อนข้างมาก โดยหันมามุ่งรับประกันภัยบริษัทขนาดกลางหรือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น ขณะเดียวกันหากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าและบริษัทขนาดใหญ่มีอัตราการเติบโตและสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้จากเบี้ยประกันภัยจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยบริษัทมองว่าค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มอ่อนค่า เนื่องจากปัจจุบันแข็งค่าไปค่อนข้างมากและแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานมากเกินไป

 

 

ด้านนายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า บริษัทกรุงเทพประกันภัยฯได้รับผลกระทบจากผลต่างอัตราแลกเปลี่ยนน้อยมาก เนื่องจากโดยปกติการทำธุรกรรมต่างๆ ด้านรับประกันภัยส่วนใหญ่ (Outward treaty) จะมีการตกลงกันเป็นเงินบาท โดยเฉพาะด้านการประกันภัยต่อ ซึ่งต้องมีการโอนเงินออกและรับเข้ามากที่สุด สำหรับลูกค้าหรือคู่ค้าที่มีข้อตกลงเป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทก็มีบัญชีเงินสกุลต่างประเทศรองรับเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และจากข้อมูลที่ผ่านมาเมื่อใช้วิธีการรับเข้าและจ่ายออกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านบัญชีดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ พอร์ตเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินทั้งหมดมีประมาณ 30% (Fire+IAR) เป็นสัดส่วนประกันภัยทรัพย์สินลูกค้าขนาดใหญ่ประมาณ 10% ในกลุ่มธุรกิจที่ความเสี่ยงตํ่า แม้จะมีจำนวนลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ยังคงมีการแข่งขันสูง ทำให้เบี้ยประกันภัยต่ออายุลดลง ดังนั้น บริษัทจะเน้นรักษางานต่ออายุรายใหญ่ทุกราย โดยเน้นการทำงานแบบ long term partner และสร้างมูลค่าเพิ่มในการให้บริการ

“ค่าเงินบาท จะมีผลกระทบบ้างเฉพาะรายที่ไม่สามารถใช้เงื่อนไขทั้งสองได้ ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยหรือช่วงเวลาของเงินที่รับเข้าและจ่ายออกที่ไม่เท่ากัน และจากข้อมูลเราได้รับผลกระทบน้อยมาก”

สำหรับงานกลุ่มที่เข้าสู่สภาวะ hard market เนื่องจากมีความเสียหายในตลาดทั่วโลกสูง เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า พลังงาน เขื่อน การบิน ทำให้เบี้ยประกันภัยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น จึงต้องมีการบริหารและจัดประกันภัยต่อให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า เน้นคุณภาพในการรับประกันภัย โดยให้มีการสำรวจภัยในทุกรายตามเงื่อนไขที่กำหนด และสร้างบุคลากร (Risk engineers) ให้มีความเป็นมืออาชีพควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี เช่น Thermoscan, Drone และมีเครือข่ายที่สามารถรองรับธุรกิจในต่างประเทศของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกรุงเทพประกันภัยจะจัดให้ fronting insurer ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชั้นนำในแต่ละประเทศออกกรมธรรม์ และจัดประกันภัยต่อกลับมาที่กรุงเทพประกันภัย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3518 วันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2562

‘ประกัน’สลบ  พิษบาทแข็ง  รายได้วูบ14%