ขุมทรัพย์...‘เจียรวนนท์’ 5ปีเพิ่ม 5.63 แสนล้านบาท

28 เม.ย. 2562 | 05:30 น.

 

โบรกฯ มองการวางมือของเจ้าสัวธนินท์ใน CPF จุดเริ่มของการส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงการบริหารบริษัทอื่นในเครือต่อไป เปิดให้ทายาท/รุ่นใหม่เข้ามาบริหารเต็มตัวมากขึ้น เผยขนาดสินทรัพย์ ตระกูลเจียรวนนท์มูลค่ารวมปี 2561 แตะ 9.38 แสนล้านบาท   5 ปีเพิ่มขึ้น 5.63 แสนล้านบาท โตปีละ 26% 

 การที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ลาออกจากประธานกรรมการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  (บมจ.) หรือ CPF โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24  เมษายน 2562 ในวัย 80 ปี  ผ่านวันเกิดไม่กี่วัน  หลังเสร็จจากภารกิจการเข้าซื้อกิจการ HyLife Investments ธุรกิจสุกรครบวงจรในแคนาดา มูลค่าเงินลงทุน 1.18 หมื่นล้านบาท และซื้อธุรกิจร้านอาหารในเวียดนามมาได้ไม่นาน ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้น CPF จะประกาศแต่งตั้งนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโต เข้าไปเป็น 1 ใน 5 กรรมการใหม่ของบริษัท

หากจะว่าไปก็เป็นไปตามแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจสู่มือทายาท นับจากจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่เจ้าสัวธนินท์  ก้าวลงจากตำแหน่งประธานและซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่บริหารมายาวนาน 48 ปีมาเป็นประธานอาวุโส และแต่งตั้งให้บุตรชายทั้ง 2 คนคือ นายสุภกิต เป็นประธานกรรมการ และศุภชัย บุตรชายคนเล็ก เป็นประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) ของเครือซีพี แต่ถึงแม้เจ้าสัวธนินท์ จะไขก๊อกจากประธานกรรมการ CPF โดยอ้างภารกิจที่รัดตัว แต่ยังนั่งเป็นประธานกรรมการในบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)  รวมทั้งรอลุยกับโปรเจ็กต์ชิ้นใหม่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะแจ้งเกิดในเร็วๆนี้

ขุมทรัพย์...‘เจียรวนนท์’ 5ปีเพิ่ม 5.63 แสนล้านบาท

ทั้งนี้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของบริษัททั้ง 3 แห่ง  CPF, CPALL และ TRUE มีมูลค่ารวมกัน 1,090,447 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.4% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตลาดรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้วประมาณ  8.73%

ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินจัดอันดับโดยนิตยสารธุรกิจฟอร์บส์ ประเทศไทย ระบุปี 2561 ตระกูลเจียรวนนท์ซึ่งติดมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 9.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่แล้วมูลค่า 5.63 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 26%       

โดยในปี 2557ตระกูลเจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สินรวม  3.75 แสนล้านบาท เป็นรองจากตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่มีขนาดทรัพย์สิน 4.14 แสนล้านบาท  และนับจากปี 2558  จนถึงปัจจุบันเจียรวนนท์ยังครองแชมป์มหาเศรษฐีที่มีขนาดทรัพย์สินมากสุดในไทย (ตารางประกอบ)

การจัดอันดับทำเนียบมหาเศรษฐีไทยของฟอร์บส์ สหรัฐฯ ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยในครั้งนี้มีการแยกทรัพย์สินเป็นรายบุคคล ระบุว่าเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีทรัพย์สินมากเป็นอันดับ 1 มูลค่ารวม  4.84 แสนล้านบาท  รองมาเป็นเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีมูลค่าสินทรัพย์  4.61 แสนล้านบาท   

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่าการวางมือจากธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าในช่วงต่อๆไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารสำหรับบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในเครือ ซึ่งเป็นเรื่องดีในการเปิดให้ทายาทหรือรุ่นใหม่เข้ามาบริหารเต็มตัวมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์มีผู้บริหารที่มีความสามารถมาก อีกทั้งเจ้าสัวธนินท์แม้จะไขก๊อกออกจากประธานกรรมการ CPF แต่ในเชิงนโยบายสามารถกำกับผ่าน   บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (บจก.) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 24.54% ใน CPF ได้อยู่แล้ว 

การให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารน่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจที่ดีกว่า และหากดูการบริหารในเครือซีพีก็อยู่ในรอบนาน 20-30 ปี แม้ที่ผ่านมาจะมีการขยับแต่ก็ยังไม่มาก กรณีนี้ตนมองเป็นการส่งสัญญาณว่าในช่วงต่อๆไป  ในเครือซีพีอาจต้องมีการเปลี่ยนการบริหาร หรือเปิดให้ผู้บริหารอยู่ระดับชั้นกลางเห็นโอกาสการเติบโตมากขึ้น

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,465  วันที่ 28 เมษายน-1 พฤษภาคม 2562

                                          ขุมทรัพย์...‘เจียรวนนท์’ 5ปีเพิ่ม 5.63 แสนล้านบาท