"แบงก์ใหญ่" ยื้อ! เคาะค่าต๋ง "สแกนใบหน้า" อืด

11 เม.ย. 2562 | 06:15 น.


ธปท. ลั่น! เห็น "สแกนใบหน้า" เปิดบัญชีข้ามแบงก์แน่ไตรมาส 2 สั่งห้ามโขกค่าธรรมเนียมแชร์ข้อมูล แบงก์ใหญ่ยื้อเคาะค่าบริการ หวั่นเสียลูกค้าให้แบงก์เล็ก หากเสนอบริการตรงใจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ จะมีสถาบันการเงิน 10 แห่ง นำเทคโนโลยี Biometric เพื่อยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า หรือ Face Recognition มาให้บริการสำหรับการเปิดบัญชีที่สาขาของธนาคาร เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

จากการสอบถามความคืบหน้าจากสถาบันการเงินทุกแห่ง ยืนยันกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า มีความพร้อมทั้งด้านเทคนิคและลงทุนระบบ เพราะได้ให้บริการภายในลูกค้าธนาคารแล้ว อย่าง "กสิกรไทยและกรุงไทย" โดยเฉพาะกรุงไทย สามารถทำได้ทั้งในส่วนของเปิดบัญชีผ่านกรุงไทย NEXT และรับเงินและซื้อสินค้าร้านธงฟ้าผ่านแอพถุงเงิน แต่ไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ ธนาคารทั้ง 10 แห่ง จะสามารถตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างชุดข้อมูล (Cross Verification) ภายนอกสถาบัน หรือ ระหว่างธนาคารได้

ขั้นตอนจะเริ่มจากการโหลด Mobile Banking หรือ โหลดแอพของธนาคารใดธนาคารหนึ่งเพื่อสแกนใบหน้า ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีระบบหลังบ้านทำหน้าที่ในการตรวจสอบรายละเอียดบนบัตรประชาชน โดยเฉพาะการเทียบข้อมูลและใบหน้าและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวตน ที่บุคคลนั้นให้ไว้กับกรมการปกครอง หรือ ส่วนราชการอื่น กระบวนการเปรียบเทียบใบหน้ากับบัตรประชาชน และเปรียบเทียบรูปของตัวบุคคลที่เคยระบุไว้ หรือ ลงทะเบียนไว้ในดิจิทัล ID จากนั้นจะต้องเซ็นชื่อกำกับบน Application หรือเรียกว่า e-Signature ซึ่งจบกระบวนการเปิดบัญชี โดยลูกค้าสามารถเลือกรับเป็นสมุดบัญชีออนไลน์หรือสมุดบัญชีปกติก็ได้

ดังนั้น จากนี้ไป เมื่อลูกค้าธนาคาร A ต้องการเปิดบัญชีในธนาคาร B ธนาคาร B ต้องส่งคำขอไปที่บริษัทพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ National Digital ID (NDID) โดย NDID จะเป็นตัวเชื่อมในการรับและส่งคำถามไปยังธนาคารเจ้าของข้อมูล เมื่อธนาคารเจ้าของข้อมูลให้คำตอบ ทาง NDID จะส่งคำตอบนั้นไปยังลูกค้าธนาคาร A เพื่อให้ลูกค้าธนาคาร A ยืนยันตัว ก่อนที่จะส่งข้อมูลไปให้ธนาคาร B ตามที่ได้ส่งคำขอข้อมูล NDID จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการยืนยันตัวตนแบบ e-KYC หรือ การทำ KYC None Face to Face

 

"แบงก์ใหญ่" ยื้อ! เคาะค่าต๋ง "สแกนใบหน้า" อืด

 

หรืออีกตัวอย่าง คือ ธนาคาร A ส่งคำถามให้ NDID ถามกรมศุลกากรในฐานะเจ้าของข้อมูล เมื่อกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานที่ให้คำตอบ ซึ่งจะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมในการแบ่งปันข้อมูล โดยจะมีส่วนหนึ่งจ่ายให้ NDID และที่เหลือต้องจ่ายให้กรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำตอบเช่นเดียวกับกรณีแรกที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการเรียกใช้ข้อมูลกับธนาคาร A และอีกส่วนต้องเป็นค่าธรรมเนียมกับ NDID

ดังนั้น สาเหตุที่ยังไม่สามารถทำ Facial Recognition ในลักษณะ Cross Verify ระหว่างธนาคารได้ เพราะติดข้อตกลงของ ธปท. ที่มีนโยบายให้คิดค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลระหว่างธนาคาร เพื่อยืนยันตัวตนในราคาสมเหตุสมผล หรือ มีการแบ่งกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่

นอกจากนั้น ยังติดกฎระเบียบความร่วมมือระหว่างธนาคารผู้ที่ต้องการใช้ฐานข้อมูล กับ ธนาคารเจ้าของข้อมูล หรือ Data แต่ละราย อย่างถ้าธนาคาร A เป็นพันธมิตรกับรายหนึ่ง จะสร้างหรือพัฒนาบริการใหม่ขึ้นมาแข่งขันกับพันธมิตรอีกรายได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ทำให้โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ NDID ยังเกิดขึ้นไม่ได้

ที่สำคัญอีกประการ คือ ธนาคารรายใหญ่กลัวจะเสียลูกค้าให้ธนาคารรายเล็กที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูล เพราะแนวโน้มการเปลี่ยนย้ายค่ายจะทำได้ง่ายมาก คือ ลูกค้าเพียงปิดแอพพลิเคชัน ซึ่งปัจจุบัน ทุกธนาคารพยายามจูงใจดึงให้ลูกค้าหันมาโหลดแอพพลิเคชันของตัวเอง แต่อนาคต หากค่ายไหนสามารถตอบสนองบริการ หรือ สินค้าได้ตรงใจลูกค้า ก็พร้อมจะอยู่หรือเลือกใช้บริการกับค่ายที่ตรงใจได้

 

"แบงก์ใหญ่" ยื้อ! เคาะค่าต๋ง "สแกนใบหน้า" อืด

 

"การนำ Facial Recognition มาใช้เพื่อยืนยันตัวตนสำหรับการเปิดบัญชีนั้น ทุกแบงก์ทำกันมาเป็นปีแล้ว ตอนนี้สาขาจะเก็บรูปบัตรประชาชนลูกค้าที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้แล้ว และทุกแห่งก็พร้อมที่จะออกจาก Regulatory Sandbox ของ ธปท. เพียงแต่รอ NDID ไตรมาส 2 คือ ต่อไปทุกธนาคารจะ Cross Verify ได้เลย แต่ทุกคนต้องทำบนข้อตกลง NDID และความร่วมมือระหว่างกัน"

สำหรับประเด็นค่าธรรมเนียมของ NDID แหล่งข่าวกล่าวว่า อยู่ระหว่างการเจรจาของคณะทำงาน NDID ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) บริษัทประกัน รวมถึงค่ายมือถือต่าง ๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมาช่วยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งมีหลายมิติ เพราะเกี่ยวข้องทั้งในฐานะผู้ขอข้อมูลและให้ข้อมูล

… นายปรีดี ดาวฉาย ประธาน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า NDID อยู่ในขั้นตอนหารือกันเรื่องค่าธรรมเนียม ซึ่งยังเป็นประเด็นที่คุยกันระหว่างธนาคารสมาชิก แต่ยืนยันว่า NDID จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะมีกฎหมายรองรับการดำเนินงานแล้ว และได้ลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไว้แล้ว



หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,460 วันที่ 11-13 เมษายน 2562
 

"แบงก์ใหญ่" ยื้อ! เคาะค่าต๋ง "สแกนใบหน้า" อืด