ลดวางเงินประกันซื้อบ้านบังคับคดี ประมูลผ่านสมาร์ทโฟน/รูดบัตรซื้อ

26 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
กรมบังคับคดี "ลดวงเงินวางหลักประกันทรัพย์ราคาไม่เกิน 3 ล้าน พร้อมเพิ่มทางเลือกประมูลขายทอดตลาดผ่านระบบผ่านสมาร์ทโฟนนัดแรก 27 มี.ค.59 และจับมือแบงก์กรุงไทยติดตั้งเครื่องรูดบัตรเครดิต-เดบิตรับวางเงินประกันเพื่อเข้าซื้อทรัพย์

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงความคืบหน้ามิติใหม่ของกรมเพื่อเข้าสู่ Digital Economy ว่า กรมได้พัฒนาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกฎกระทรวงในการขายทอดตลาด และพัฒนารูปแบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและเน้นความโปร่งใสในการทำงาน โดยภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (มาตรา 309 จัตวา) ฉบับที่ 29 พ.ศ. 2558ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่20 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีสาระสำคัญในการคุ้มครองผู้ซื้อห้องชุดและที่ดินจัดสรรจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีที่ไม่ต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระที่เจ้าของเดิมค้างชำระอยู่ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดหากชำระราคาค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วนแล้ว สามารถไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินได้โดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองรายการหนี้ค่าใช้จ่ายไปแสดง

สำหรับนิติบุคคลอาคารชุดนั้นมีหน้าที่ต้องไปแจ้งค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา และเจ้าพนักงานบังคับคดีจะกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้กับนิติบุคคลอาคารชุด แต่หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่ได้แจ้งค่าส่วนกลางค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็ไม่ได้ตัดสิทธินิติบุคคลอาคารชุดที่จะไปใช้สิทธิฟ้องเจ้าของเดิมที่ค้างชำระ กรมบังคับคดีได้เริ่มประกาศขายทอดตลาดห้องชุดตามกฎหมายฉบับใหม่นัดแรกในวันที่ 19 มีนาคม 2559 และคาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสนใจในการซื้อทรัพย์ประเภทห้องชุดมากขึ้น

ส่วนกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ. 2559 ที่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559โดยเพิ่มความสะดวกในการขายทอดตลาดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ลดจำนวนเงินวางหลักประกันในการเข้าซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การวางหลักประกันการเข้าเสนอราคา(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ) ได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักประกันสำหรับทรัพย์สินที่มีราคาประเมินไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยเฉพาะราคาประเมินเกิน 2 แสนบาทแต่ไม่เกิน 5 แสนบาทวางหลักประกัน 2.5 หมื่นบาท และราคาประเมินเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3ล้านบาท วางหลักประกัน 1.5 แสนบาท ส่วนราคาประเมินเกิน 3 ล้านบาทยังกำหนดวางหลักประกันเดิม

"กรมบังคับคดีมีสินทรัพย์ราคาประเมินหลักทรัพย์ 1.5 ล้านบาท ตามโครงการบ้านประชารัฐ ประมาณ 1.7 หมื่นรายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9 พันล้านบาท จากเดิมผู้มาประมูลซื้อสินทรัพย์จะต้องวางเงินประกัน 2.5 แสนบาท แต่หลักเกณฑ์ใหม่วางเงินประกันเพียง 1.5 แสนบาท ซึ่งทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสที่จะเข้าถึงการประมูลซื้อสินทรัพย์ได้มากขึ้น"นางสาวรื่นวดีกล่าว

ขณะเดียวกันในวันที่ 27 มีนาคม 2559 กรมจะนำร่องประมูลขายทอดตลาดทรัพย์ผ่านระบบสมาร์ทโฟนเพิ่มทางเลือกกับผู้สนใจเข้าประมูลซื้อทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งทรัพย์ที่ประมูลขายเป็นทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 คดี ผู้สนใจเสนอคำสั่งซื้อผ่านระบบ E-Offering Auction Pilot Project System สามารถจองเครื่องได้ ณ สำนักงานบังคับคดีเครือข่าย 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา และสงขลา นอกจากนี้กรมได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยจำกัด(มหาชน)เปิดให้บริการระบบ EDC Payment หรือวางเงินหลักประกันเพื่อเข้าซื้อทรัพย์จากการประมูลขายทอดตลาดด้วยบัตรเครดิต/เดบิตซึ่งผู้ซื้อทรัพย์สามารถใช้บัตร ATM บัตร VISA DEBIT หรือ บัตร CREDIT โดยไม่ต้องนำเงินสดมาวางหลักประกันในการซื้อทรัพย์

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะคิดค่าธรรมเนียม หากเป็นบัตร ATM หรือบัตร VISA DEBIT ของบมจ.ธนาคารกรุงไทย เสียค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อ 1 รายการ สำหรับผู้ที่ใช้บัตร CREDIT จะคิดค่าธรรมเนียม 1% ของยอดชำระ แต่หากซื้อทรัพย์ไม่ได้ สามารถยกเลิกรายการได้ทันที โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมบังคับคดีได้เริ่มให้บริการระยะแรกไปแล้ว และระยะที่สอง จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 29 สำนักงาน และจะขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติมไปยังทุกสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ภายในเดือนมิถุนายน 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559