EXIMเฉือนส่วนต่างพรีเมียม-ดบ.ป้องฐานลูกค้าดี

12 ก.พ. 2559 | 09:00 น.
เอ็กซิม แบงก์ ประกาศยอมหั่นค่าพรีเมี่ยม-ผ่อนคลายดอกเบี้ย ช่วยลดภาระลูกค้าสนองนโยบายรัฐ-กระตุ้นยอดธุรกรรมประกันความเสี่ยง ระบุมีบริษัทหน้าใหม่รับประกัน-คุ้มครองทั้งไทยและต่างชาติกดค่าธรรมเนียมดูดลูกค้าใช้บริการ เผยรายที่ประวัติดีคิดพรีเมี่ยมไม่ถึง 0.01% แย้มลดดอกเบี้ยสูงสุดลบ 1.5% สิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างแตะ 7.6 หมื่นล้านบาท

นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)หรือธสน. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ธนาคารจะกลับมาพิจารณาการผ่อนคลายในเรื่องของค่าธรรมเนียม (พรีเมี่ยม) ในการซื้อประกันความคุ้มครองของลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงจากการลงทุนจะเห็นได้ว่าปริมาณธุรกรรมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากมีผู้ประกอบการรับประกันและคุ้มครองทั้งในไทยและต่างชาติที่เข้ามาประกอบการธุรกิจในลักษณะนี้ โดยคิดอัตราค่าพรีเมี่ยมในการซื้อความคุ้มครองในอัตราที่ถูกกว่าของธนาคาร ส่งผลในยอดปริมาณการทำธุรกรรมลดลง ประกอบกับที่ผ่านมาธนาคารทำธุรกรรมรับประกันกับลูกค้ารายใหญ่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง และลูกค้ารายใหญ่มักจะทำการประมูลการค้า ซึ่งที่ผ่านมายอดขายลดลงจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว ทำให้ปริมาณธุรกรรมการประมูลของลูกค้ารายใหญ่ลดลง จึงทำให้ยอดการบริการประกันความเสี่ยงลดลงด้วย โดยเห็นได้จากปี2558 ปริมาณธุรกิจสะสมอยู่ที่ 6.43 หมื่นล้านบาทลดลงจากปี 2557 ที่มีปริมาณธุรกิจสะสมอยู่ที่ 8.63 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาสนใจใช้บริการกับธนาคารเหมือนที่ผ่านมา และก่อให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสม ธนาคารจึงจะพิจารณาปรับลดค่าพรีเมี่ยมลง เพราะหากย้อนดูช่องว่างระหว่างตัวเลขสถิติความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต และความเสี่ยงในปัจจุบัน จะพบว่ายังมีช่องว่างให้ธนาคารได้ปรับลดค่าพรีเมี่ยมลงได้ระดับหนึ่ง แต่การปรับลดลงจะอยู่ในหลักจุดทศนิยม และอยู่ในวิสัยที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ โดยธนาคารจะไม่มุ่งเน้นตัดราคาเพื่อแข่งขันกับเจ้าอื่น เนื่องจากอัตราการคิดค่าพรีเมี่ยมจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ตลาดคู่ค้าหรือตลาดที่ส่งออก อยู่ในระดับความเสี่ยงมากน้อยระดับใด 2.คำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์มีจำนวนมากน้อยระดับใด และ 3.จำนวนระยะเวลาในการค้ำประกัน เช่น 30 วัน ค่าพรีเมี่ยมจะถูกกว่า 180 วัน เป็นต้น ดังนั้น การปรับลดลงจากพิจารณาจาก 3 ปัจจัยนี้

อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยทั้งพอร์ตโดยรวมอัตราค่าพรีเมี่ยมจะอยู่ที่ระดับ 0.08% ซึ่งมีทั้งระดับความเสี่ยงสูงและต่ำคละกันอยู่ในพอร์ต แต่หากลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดค่าพรีเมี่ยมจะเฉลี่ยไม่เกินระดับ 0.01% นอกจากปรับลดค่าพรีเมี่ยม ธนาคารยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ โดยมีเป้าหมายการรับประกันในปี 2559 อยู่ที่ 6.15 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าปีก่อนที่อยู่ 6.0 หมื่นล้านบาท

"ยอดการรับประกันที่ลดลงส่วนหนึ่งเราโดนกระทบจากผู้เล่นที่เข้ามารับประกันในเมืองไทยมากขึ้น และลดค่าพรีเมี่ยมให้ถูกกว่าเรา ซึ่งจากการพิจารณาแล้วเรายังพอมีรูมที่จะลดค่าพรีเมี่ยมลงได้ระดับหนึ่งโดยไม่กระทบต่อรายได้หรือพอร์ตการเติบโต เพราะเราพิจารณาสถิติความเสียหายแล้วยังพอรับได้อยู่ แต่เราคงไม่มีเป้าหมายที่จะลดค่าพรีเมี่ยมแข่งขัน เราแค่ปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยใช้เครื่องมืออื่นควบคู่ด้วย"

นอกจากนี้ ธนาคารจะยังคงใช้นโยบายผ่อนปรนในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการคลังและคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณี เช่น ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีเรทติ้งที่ดี งบการเงินดี และมีความสามารถชำระหนี้ที่ดี ธนาคารอาจจะผ่อนปรนเรื่องดอกเบี้ยโดยปรับลงจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงปัจจุบันอยู่ที่ 6.5% (Prime Rate) อาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยลบ 1.5% ถือเป็นกรณีลูกค้าดีที่สุด อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีผลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของธนาคารปรับลดลงจากสิ้นปี 2558 อยู่ที่ระดับ 3.05% ลดลงเหลือต่ำกว่า 3%

ส่วนปี2559 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อปล่อยใหม่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท สินเชื่อรายใหญ่ 1.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตกว่า 4% จากปีก่อน โดยคาดว่าจะมียอดสินเชื่อเติบโตสุทธิประมาณ 3 พันล้านบาท ส่งผลให้มียอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มปรับลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 5.43% เนื่องจากธนาคารอยู่ระหว่างเจรจากับลูกหนี้ค้างชำระรายใหญ่ หากสามารถแก้ไขได้จะช่วยให้ตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลปรับลดลงมาได้อีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559