เปิดเล่ห์จีนงัดสารพัดวิธีทุ่มตลาดเหล็ก

05 ก.พ. 2559 | 06:00 น.
เหล็กจีนทุ่มตลาดหนักข้อขึ้นทุกวัน พบสถิตินำเข้าจากจีนเติบโตต่อเนื่อง งัดสารพัดวิธีถล่มตลาด สถาบันเหล็กฯ เผย 7 แนวทางสุดซิกแซก มีทั้งยืมจมูกเวียดนามหายใจ ส่งรหัสลับรู้กันเฉพาะคู่ค้า ขณะที่ผู้ผลิตฟันธง มาตรการเอดีและเซฟการ์ดเอาไม่อยู่ ไม่สามารถลดการนำเข้าจากจีนได้

[caption id="attachment_29759" align="aligncenter" width="500"] ตัวอย่างเหล็กยอดฮิตไทยนำเข้าจากจีน ตัวอย่างเหล็กยอดฮิตไทยนำเข้าจากจีน[/caption]

ดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยหรือ ISIT ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่จีนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2558 และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณเหล็กที่ผลิตในจีนอยู่ในภาวะล้นตลาด ดูจากสถิติปี 2558 จีนมีกำลังผลิตเหล็กดิบจำนวน 800.52 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของจีนมีราว 748.96 ล้านตันต่อปี ทำให้มีระดับสินค้าเหล็กส่วนเกินอยู่ที่ 51.56 ล้านตันต่อปี

จากตัวเลขเหล็กส่วนเกินดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการจีน และบริษัทเทรดดิ้งในจีน ยังต้องระบายเหล็กที่ล้นตลาดออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มประเทศเป้าหมายอยู่ในโซนอาเซียนเป็นหลัก มีรูปแบบวิธีการส่งออกเหล็กมาตีตลาดที่หลากหลายวิธี งัดสารพัดกลยุทธ์หลีกเลี่ยงภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรขาเข้าไปยังประเทศนั้นๆ ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD)และภาษีปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด)โดยเฉพาะการส่งออกมายังประเทศไทย หนึ่งในเป้าหมายลำดับต้นๆของผู้ค้าจีนในขณะนี้ (ดูตารางตัวอย่างสถิติไทยนำเข้าเหล็กจากจีน) เนื่องจากไทยประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ รวมถึงการขยายตัวที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าที่จะขยายตัวมากขึ้นนับจากนี้ไป อีกทั้งนโยบายกระตุ้นการลงทุนใหม่ ซึ่งนโยบายเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนใช้เหล็ก ตั้งแต่งานก่อสร้างโรงงานไปยังงานโครงสร้างพื้นฐาน และที่อยู่อาศัย เป็นต้น

 เล่ห์กลจีนงัดสารพัดวิธีตีตลาด

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันจะพบว่าวิธีการส่งเหล็กเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยและในอาเซียนมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ที่ตรวจพบเบื้องต้นมี 7 แนวทาง ที่ผู้ค้าจีนพยายามหาวิธีส่งเหล็กเข้ามาตีตลาดอย่างต่อเนื่องไล่ตั้งแต่ 1.จีนใช้มาตรการลดราคาเหล็ก ยกตัวอย่างในประเทศจีนขายเหล็กที่ราคา 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่ส่งเหล็กออกมาตีตลาดนอกประเทศจีน ในราคา 12 บาทต่อกิโลกรัม ราคาดังกล่าวเมื่อรวมภาษีเอดีที่ 30% แล้ว ทำให้ราคาขยับสูงขึ้นจาก12บาทต่อกิโลกรัมหรือ 1.20 หมื่นบาทต่อตัน เพิ่มเป็น 15-16 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 1.5-1.6 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม สะท้อนให้เห็นว่าแม้รวมภาษีเอดีไปแล้วราคายังต่ำกว่าที่ขายในจีน และเป็นราคาที่ผู้ผลิตเหล็กในไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ในประเด็นดังกล่าวแม้ว่าไทยและประเทศสมาชิกในอาเซียนจะร้องเรียนไปยังรัฐบาลจีน หรือตัวแทนจากภาคเอกชนจีนมาแล้วหลายครั้ง โดยผ่านเวทีต่างๆแต่ก็ยังไม่สำเร็จ

2.จีนใช้วิธีเจือโบรอนทำให้ไม่เสียภาษีส่งออกและไม่เสียภาษีอากรขาเข้า เมื่อไทยใช้มาตรการเอดีตอบโต้ จีนก็หันไปใช้วิธีเจือโครเมียมแทนอีกช่องทาง จนล่าสุดไทยออกมาตรการเอดี กรณีนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้น เจืออัลลอย หรือทั้งกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนเมื่อนำเข้ามาจะต้องเสียภาษีเอดีทั้งสิ้น

3.เมื่อเหล็กจากจีนถูกสกัดด้วยมาตรการเอดีและเซฟการ์ด กับเหล็กขั้นต้น เช่นเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้น จีนก็ส่งสินค้าในเหล็กขั้นปลายน้ำมาตีตลาดอีกทาง ทั้งท่อเหล็ก เหล็กประกอบสำเร็จ ยิ่งส่งผลกระทบหนักในอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบ ทำให้สถาบันเหล็กหารือกับกรมการค้าต่างประเทศให้เร่งปกป้อง ทำให้ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เริ่มประกาศไต่สวน ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกรอกข้อมูล ทำให้กระบวนการดำเนินการปกป้องเร็วขึ้น

ห้ามใช้เครื่องจักรรีดเหล็กหน้าแคบ

4.การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้รัฐบาลจีนออกมาประกาศให้ลดกำลังผลิตเหล็กภายในประเทศลง จีนจึงหันมาส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์มือ 2 สำหรับผลิตเหล็กออกมาขายในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรสำหรับรีดเหล็กหน้าแคบ เพื่อนำไปทำท่อ ซึ่งในทางกลและทางรูปร่างท่อจะออกมาไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเรื่องนี้ก่อนหน้านั้นสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)เคยพิจารณาว่า การผลิตเหล็กแผ่นไม่ควรเป็นการผลิตเหล็กแผ่นหน้าแคบเพื่อนำไปทำท่อ เพราะแตกร้าวง่าย ไม่ได้มาตรฐาน จะไม่ปลอดภัย ซึ่งขณะนี้มีเครื่องจักรประเภทนี้เข้ามาแล้ว เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยต่อประชาชน

"ล่าสุดสถาบันเหล็กได้หารือกับสมอ. ไปแล้วเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และจะหารือต่อในวันที่10 กุมภาพันธ์นี้ กับ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ระงับใบอนุญาตตั้งโรงงาน ในกรณีที่มีการใช้เครื่องจักรชนิดดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเน้นเรื่องคุณภาพเหล็กและความปลอดภัยเป็นหลัก"

5. นอกจากจีนจะขายเหล็กให้ไทยแล้ว ต่อไปจีนจะขายสินค้าสำหรับงานโครงสร้างมากขึ้น ทั้งสะพานเหล็ก งานโครงสร้างอาคาร ที่น็อกดาวน์เข้ามา ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเหล็กได้รับผลกระทบ แบบขยายวงกว้างขึ้น

 ยืมจมูกเวียดนามขายท่อเหล็ก

6.การที่เวียดนามไม่มีโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน แต่ขณะนี้เวียดนามส่งท่อเหล็กที่ผลิตจากเหล็กแผ่นรีดร้อนเข้ามาขายในไทยได้ โดยสำแดงเท็จว่า เป็นสินค้าที่ผลิตจากเวียดนาม ทั้งที่จริงแหล่งที่มา มาจากจีน จีนอาศัยเวียดนามเป็นผู้ส่งออก เพื่อจะได้ใช้สิทธิ์ภาษีอากรนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนด้วยกันเป็น 0%

 รหัสลับ "HR-ST" รู้กันเฉพาะคู่ค้า

7. ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตท่อเหล็กกล้าไร้สนิม ยื่นคำร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการเอดีกับจีนและประเทศอื่นๆ แต่เกรงว่าจะใช้เวลานาน ดังนั้นในช่วงที่มาตรการเอดียังไม่ประกาศใช้ กลุ่มผู้ผลิตท่อเหล็กไร้สนิมจึงยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราว โดยการให้ผู้นำเข้าวางเงินค้ำปะกันจำนวนหนึ่ง ทำให้ผู้นำเข้าท่อเหล็กไร้สนิมใช้วิธีนำเข้าโดยอ้างอิงพิกัดท่อเหล็กธรรมดา เพื่อเป็นการเลี่ยงให้เห็นว่านำเข้าท่อเหล็กไร้สนิมน้อยลง โดยผู้นำเข้าแสดงบทซิกแซก ส่งสัญญาณให้ลูกค้าเป็นรหัสพิเศษ หรือรหัสลับว่า "HR-ST" ให้รู้ว่าสินค้าล็อตนี้เป็นท่อเหล็กไร้สนิมไม่ใช่ท่อเหล็กธรรมดา เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อที่กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาคุ้มครองชั่วคราวอยู่

ดร.ทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่สถาบันเหล็กฯ กังวลใจอยู่อีกเรื่อง คือ ความพยายามที่จะผลักดันให้ไทยนำเตาอินดักชัน (Induction)หรือเตาแม่เหล็กไฟฟ้า เข้ามาใช้ในไทยเพื่อผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตประเภทเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย โดยพยายามให้เปลี่ยนมาตรฐาน มอก. ที่ล่าสุดเรื่องนี้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ยอมรับให้ใช้เตาดังกล่าวแล้วนั้น ซึ่งเรื่องนี้ถาบันเหล็กฯ เกรงว่า เศษเหล็กที่นำมาใช้กับเตาอินดักชันจะเป็นเศษเหล็กที่ไม่สะอาด และมีเศษเหล็กรองรับไม่เพียงพอ ที่เวลานี้เศษเหล็กหายากขึ้น จึงต้องนำเข้ามา เมื่อนำเข้ามาก็เกรงว่าผู้ประกอบการนำเศษเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานมาปะปนลงไปในขบวนการเผาด้วย เพราะถ้าเป็นเศษเหล็กคุณภาพดีจะต้องมาจากโรงงานผลิตรถยนต์ หรือผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเริ่มหายากขึ้นทุกวันในตลาดโลก อาจทำให้การผลิตเหล็กด้วยเตาอินดักชันจะได้เหล็กคุณภาพไม่ดีออกมา และจะไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้

  ISIT จับมือสมอ.ร่างมาตรฐานเหล็ก

อย่างไรก็ตามจากปัญหาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมา มาตรการเอดีและเซฟการ์ดไม่ได้ทำให้การนำเข้าเหล็กราคาถูกจากจีนลดปริมาณการนำเข้าลง แต่จากสถิติการนำเข้าเหล็กจากจีนมายังประเทศไทยกลับยังพุ่งสูงขึ้น หากดูสถิติปี 2556 นำเข้าเหล็กจากจีนจำนวน 2.8 ล้านตันต่อปี ปี 2557 เพิ่มเป็น 3.55 ล้านตันต่อปีและปี 2558 เพิ่มเป็น 4.663 ล้านตันต่อปี ทำให้สถาบันเหล็กฯ ต้องมาช่วยร่างมาตรฐานเหล็กร่วมกับสมอ. เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐาน มอก. รวมถึงการเตรียมบุคลากรเข้าไปช่วย สมอ.ตรวจโรงงานเพื่อขอรับรองการใช้ตราสัญลักษณ์ มอก. ให้เป็นตัวการันตีให้ผู้ประกอบการรายนั้นๆ สามารถขายเหล็กกับภาครัฐได้ รวมถึงกรณีนำเข้าเหล็ก ที่สถาบันเหล็กจะลงไปช่วยสมอ.ตรวจวิเคราะห์ชิ้นงานว่าอยู่ในข่ายได้มาตรฐานบังคับหรือไม่ด้วย

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ที่ขณะนี้เปิดให้สาธารณะชนได้แสดงความคิดเห็น เมื่อแก้ไขร่างดังกล่าวเสร็จ กระทรวงพาณิชย์จะออกกฎกระทรวงมารองรับ โดยสถาบันเหล็กจะเป็นผู้รับตรวจวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง หากพบว่าเป็นเหล็กที่ไม่ถูกต้องก็ต้องเสียภาษีอากรขาเข้า ภาษีเอดี และถูกดำเนินการทางกฎหมายตามความเหมาะสมต่อไป-ผู้ผลิตยํ้าเอดีสกัดเหล็กจีนไม่อยู่

นายทรงศักดิ์ ปิยะวรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-การตลาดและการขาย บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การนำเข้าเหล็กจากจีน ยังส่งผลกระทบกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทางภาครัฐจะมีมาตรการเอดีออกมา โดยเฉพาะเหล็กลวดคาร์บอนสูงที่มีความต้องการของตลาดอยู่ประมาณ 3 แสนตันต่อปี และมีบริษัทผลิตอยู่เพียงรายเดียว

"เวลานี้แม้มาตรการเอดีเก็บภาษีในอัตรากว่า 5.17-10.38% แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถยับยั้งการนำเข้าเหล็กลวดจากจีนได้ ซึ่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมียอดจำหน่ายเพียง 2-3 พันตันต่อเดือนเท่านั้น จากที่เคยจำหน่ายได้ 1.2 หมื่นตันต่อเดือน โดยที่ผ่านมาทางบริษัทได้ยื่นเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนมาตรการเอดีไปแล้ว ขอเพิ่มการเก็บภาษีเอดีเป็น 23% เนื่องจากเห็นว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมามาตรการเอดีที่ใช้อยู่ไม่สามารถสกัดเหล็กลวดนำเข้าจากจีนได้ (อ่านต่อข่าว"จ่อคลอดมาตรฐานเหล็กเส้น ไม่เกิน พ.ค.นี้ประกาศบังคับใช้สกัดเหล็กเสริมคอนกรีตจากจีน” หน้า 8)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559