ดอกเบี้ยลบทุบส่งออกไปญี่ปุ่น เยนอ่อนค่าลดนำเข้าต่อเนื่อง/จี้หาตลาดอื่นเสริม

05 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
ผลพวงBOJ งัดมาตรการดอกเบี้ยติดลบกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทำเยนอ่อนค่า จ่อทุบส่งออกไทยไปแดนปลาดิบติดลบต่อเนื่อง รถยนต์ การ์เมนต์ เป่าปาก นับวันยิ่งวูบ สวนทางไก่ยังหวังนำเข้าเพิ่ม ขณะนโยบายรัฐบาลอาเบะหนุนผู้บริโภคใช้สินค้าเมด อิน เจแปนหวดซ้ำลดนำเข้าจากต่างประเทศ

จากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น(BOJ) วันที่ 29 มกราคม 2559 ได้มีมติให้มีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบคือ -0.1% สำหรับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับ BOJ ทั้งนี้เพื่อกดดันให้สถาบันการเงินเหล่านี้ปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น และลดการออมของประชาชนให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งหลายฝ่ายระบุจะเป็นผลดีต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งไทยนั้น

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นในเรื่องนี้กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า มาตรการดังกล่าวที่ล่าสุดมีผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงทันทีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ(จาก 118 เยน เป็น 121 เยน) สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ มีการเทขายเงินเยนเพื่อนำไปฝากในสกุลดอลลาร์ในต่างประเทศ หรือนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า หรือไม่ก็ไปถือสินทรัพย์อื่น เช่นทองคำที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

"เมื่อเยนอ่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้น สินค้าไทยไปญี่ปุ่นจะมีราคาแพงขึ้นไม่จูงใจนำเข้า ขณะเดียวกันจากมาตรการดอกเบี้ยติดลบ ไม่แน่ใจว่าจะทำให้ชาวญี่ปุ่นลดการออม และจับจ่ายมากขึ้นหรือไม่ เพราะการจับจ่ายเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้น การนำเงินออมเพื่ออนาคตไปใช้จ่ายย่อมเป็นความเสี่ยง ขณะเดียวกันมองการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบทำให้เยนอ่อนครั้งนี้จะทำให้เกิดสงครามค่าเงิน เพราะเยนอ่อน เงินหยวนจีนก็อ่อน และ 2 ประเทศนี้ก็พึ่งพาการส่งออก สินค้าไทยนอกจากจะส่งไปญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มแล้ว จะได้รับกระทบการแข่งขันกับสินค้าจากญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ด้วย"

เช่นเดียวกับนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปญี่ปุ่น(ดูตารางประกอบ) ที่กล่าวว่า จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอาเบะที่มีผลให้เงินเยนอ่อนค่า ส่งผลให้การส่งออกสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนของไทยไปญี่ปุ่นติดลบต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน(2556-2558) รวมถึงการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในภาพรวมทุกสินค้าก็ติดลบต่อเนื่องมา 4 ปีเช่นกัน(2555-2558) ซึ่งมาตรการดอกเบี้ยติดลบของแบงก์ชาติญี่ปุ่นที่มีผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีกถือมีความน่ากังวล เพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่ลดลง

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงคงไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตลาดหลัก(อีก 1 ตลาดหลักคือสหภาพยุโรป)มากนัก เพราะก่อนหน้านี้เงินเยนเคยอ่อนค่าอยู่ที่ 121 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผ่านมาในแต่ละปีญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าไก่จากทั่วโลกปีละกว่า 9 แสนตันโดยนำเข้าจากไทยประมาณ 3 แสนตัน อีก 4 แสนตันนำเข้าจากบราซิล ที่เหลือจากแหล่งอื่นๆ

"ช่วงที่ญี่ปุ่นปิดบัญชีเพื่อเคลียร์สต๊อกเก่าอยู่ คงต้องรอดูหลังเดือนมีนาคมว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร"

ด้านนายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ดี ค่าเงินเยนอ่อน รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายให้ผู้บริโภคใช้สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น(เมด อิน เจแปน)จะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ดังนั้นคงต้องหาตลาดอื่นเสริมโดยเฉพาะอาเซียน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559