จ่อคลอดมาตรฐานเหล็กเส้น ไม่เกินพ.ค.นี้ประกาศบังคับใช้สกัดเหล็กเสริมคอนกรีตจากจีน

07 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
สมอ.จี้ออกมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตใหม่ คาดไม่เกินพ.ค.นี้ได้ใช้ ห้ามเจือ 15 ธาตุเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หวังสกัดเหล็กเส้นจีนหลบเลี่ยงเข้าประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใดได้ใบอนุญาตนำเข้าไปแล้ว ต้องยื่นใหม่หลังประกาศมีผลใช้บังคับ ด้าน"มิลล์คอน"ผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่เชื่อ หลังจากนี้ไปเหล็กเส้นจากจีนเข้ามายากขึ้น ส่งผลต่อราคาในประเทศเริ่มขยับ

[caption id="attachment_29793" align="aligncenter" width="360"] สัดส่วนปริมาณธาตุที่เข้าข่ายเป็นเหล็กกล้าเจือ สัดส่วนปริมาณธาตุที่เข้าข่ายเป็นเหล็กกล้าเจือ[/caption]

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่สมอ.ได้ประกาศแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กเส้นกลม มาตรฐานเลขที่ มอก. 20-2543 และมอก.24-2548 ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นเข้ามา ซึ่งขณะนี้ได้ปิดรับความเห็นไปแล้ว โดยสมอ.จะนำผลดังกล่าวเข้าประชุมในคณะกรรมการวิชาการหรือกว.9 อีกครั้งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ว่าจะเห็นด้วยต่อมาตรฐานที่ประกาศไปอีกครั้งหรือไม่ ก่อนที่จะสรุปและนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(กมอ.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ และหลังจากนั้น จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ในช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม 2559 นี้

สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ชนิดเหล็กเส้นกลม มอก.20-2543 และเหล็กข้ออ้อย มอก.24-2548 ที่เป็นมาตรฐานใหม่นั้น ในส่วนของวัสดุ การทำ และส่วนประกอบทางเคมี กำหนดให้ต้องทำขึ้นจากเหล็กแท่งเล็ก หรือเหล็กแท่งใหญ่ เท่านั้น ด้วยกรรมวิธีการรีดร้อน โดยต้องไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นมาก่อน

นายธวัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เหล็กข้ออ้อยและเหล็กเส้นกลม ต้องเป็นเหล็กกล้าไม่เจือธาตุต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้(ดูตารางประกอบ) โดยเมื่อวิเคราะห์จากเบา เหล็ก เอสดี 30 จะต้องมีคาร์บอนไม่เกิน 0.27 %ของประมาณโดยมวลฟอสฟอรัส ไม่เกิน 0.050 % กำมะถัน 0.050 % คาร์บอนบวกแมงกานีส ไม่เกิน 0.5 % ส่วนเหล็กเอสดี 40 มีแมงกานีส ไม่เกิน 1.8 % ฟอสฟอรัส ไม่เกิน 0.05 % กำมะถันไม่เกิน 0.05 % คาร์บอนบวกแมงกานีสไม่เกิน 0.55 % และเหล็กเอสดี 50 แมงกานีสต้องไม่เกิน 1.8 % ฟอสฟอรัสไม่เกิน 0.05 % กำมะถันไม่เกิน 0.05 % และคาร์บอนบวกแมงกานีส ไม่เกิน 0.6 %

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์จากผลิตภัณฑ์เหล็กข้ออ้อย เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของส่วนประกอบทางเคมี จะต้องมีคาร์บอนไม่เกิน 0.03 % ของปริมาณโดยมวล แมงกานีส ไม่เกิน 0.05 % และฟอสฟอรัส ไม่เกิน 0.01 % ส่วนเหล็กเส้นกลม ส่วนประกอบทางเคมีเมื่อวิเคราะห์จากเบา มีคาร์บอนไม่เกิน 0.25 % กำมะถันไม่เกิน 0.05 % และฟอสฟอรัส ไม่เกิน 0.05 % และเมื่อวิเคราะห์จากผลิตภัณฑ์ คาร์บอนต้องไม่เกิน 0.28 % กำมะถัน ไม่เกิน 0.06 % และฟอสฟอรัสไม่เกิน 0.06 %โดยมองว่าหลังจากประกาศนี้มีผลใช้บังคับแล้ว น่าจะช่วยให้กระแสที่จะมีการขอใบอนุญาตนำเข้าเหล็กเส้นจากจีนลดลงไปได้มาก และที่มีการให้ใบอนุญาตนำเข้าให้กับผู้ประกอบการ 2 ราย ไปแล้ว ก็ถือว่าต้องสิ้นสุดลง หากจะนำเข้ามาใหม่ก็ต้องเข้ามายื่นขอใหม่ เพื่อให้เหล็กที่นำเข้ามาได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถสกัดกั้นเหล็กเส้นนำเข้าจากจีนที่มีการเจือธาตุต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงพิกัดศุลกากรได้

ด้านนายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่ของประเทศ มีกำลังการผลิต 5.5 แสนตันต่อปี การประกาศใช้มาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตใหม่ น่าจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตเหล็กในประเทศ เพราะถือเป็นการสกัดเหล็กเส้นที่จะทะลักเข้ามาได้ทางหนึ่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางสมอ.ได้มีการอนุมัติใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ 2 ราย นำเข้าเหล็กเส้นได้ ส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้ราคาเหล็กในช่วงปลายปีที่ผ่านมาปรับตัวค่อนข้างมากที่ 10-11 บาทต่อกิโลกรัมผู้ประกอบการบางรายหยุดผลิต เนื่องจากลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและใช้ราคาต่อรองของเหล็กที่นำเข้ามาจากจีน

แต่เมื่อมีการประกาศที่จะใช้มาตรฐานบังคับใหม่ออกมา ทำให้ผู้ประกอบการกลับมาผลิต เพื่อเพิ่มสต๊อกที่ขาดไปเมื่อช่วงปลายปีก่อน ส่งผลให้ราคาเหล็กเส้นปรับตัวตัวขึ้นมาประมาณ 12-13 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และคาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมองว่ามาตรฐานบังคับที่ออกมา จะเป็นตัวสกัดผู้ประกอบการที่คิดจะนำเข้าเหล็กเส้นหรือผู้ที่ยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าไปแล้วกว่า 10 ราย จะต้องมายื่นขอใบอนุญาตนำเข้าใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ยาก ว่าเหล็กที่นำเข้าจากจีนมาจะทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559