‘เมืองไทย’ บุกหนักทุกเซ็กเมนต์ ปูพรมประกันชีวิตระดับภูมิภาค

06 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
กระแสดิจิตอล และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)นับเป็นปัจจัยดึงดูดและผลักดันทุกประเทศพุ่งเป้าให้ความสำคัญทั้งระดับประเทศ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจประกันซึ่งหนีไม่พ้นเทรนด์การขยายตลาด/เพิ่มขนาดธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยระหว่างวันที่ 29-31 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน)(บมจ.)ได้พาคณะสื่อมวลชนแถลงยุทธศาสตร์การทำธุรกิจปี2559 รวมถึงโอกาสและอุปสรรคการทำธุรกิจในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

[caption id="attachment_29751" align="aligncenter" width="338"] สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต สาระ ล่ำซำ
กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต[/caption]

 ยกระดับประกันชีวิตภูมิภาค

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทมีความตั้งใจและต้องการยกระดับบริษัทให้ขึ้นสู่ "บริษัทประกันชีวิตระดับภูมิภาค" หรือ "ASEAN Company" ในระยะข้างหน้า ภายใต้กระแสเออีซีและดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น สิ่งสำคัญ คือ จะต้องมีทีมงานที่ดี โดยจะต้องทำโครงสร้างองค์กรให้เป็นที่ดึงดูดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการเข้าไปขยายตลาดยังประเทศในภูมิภาค รวมถึงมีพันธมิตรที่ดี (Good Partner) ระบบที่ดีรองรับธุรกรรมได้มีประสิทธิภาพ (Good System) และรูปแบบการทำธุรกิจที่ดี (Good Modal) ที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีทีมศึกษาและวิเคราะห์ตลาด รวมถึงพฤติกรรมของคนแต่ละประเทศไว้ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมทั้งในแง่กฎหมาย ภาษา และวัฒนธรรม โดยโมเดลที่จะใช้มีตั้งแต่การร่วมทุน (Joint Venture) ร่วมมือกับพันธมิตร (Business Partner) สำนักงานผู้แทน (Representative Office) และการเปิดสาขาเต็มรูปแบบ (Branch) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ แต่ส่วนใหญ่โมเดลที่ใช้จะเป็นแบบ JV หรือร่วมทุน เนื่องจากจะได้ทั้งความรู้ เทคโนโลยี และเครือข่าย โดยไม่ต้องสร้างใหม่ทั้งหมด

ปัจจุบันบริษัทมีการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค 3 แห่งด้วยกัน คือ 1.สำนักงานผู้แทน ประเทศเมียนมา ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้ว 2 ปี โดยจะเน้นให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ และให้ความรู้ในเรื่องประกัน เป็นต้น 2.จัดตั้งบริษัทประกันชีวิตร่วมทุนในประเทศเวียดนาม ในชื่อ "MB Ageas Life" และล่าสุด 3.จัดตั้ง Sovannaphum Life Assurance PLC ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในประเทศกัมพูชา ซึ่งในกัมพูชาถือว่าเป็นตลาดใหม่ แต่มีโอกาสขยายตัวได้เร็ว จะเห็นว่ามีบริษัทประกันต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามา 2-3 รายด้วยกัน จึงเป็นตลาดที่น่าจับตามอง

คาดว่าจะเริ่มทำธุรกิจได้ภายในเร็วๆ นี้ ส่วนประเทศอื่นในอาเซียนจากการศึกษาพบว่ามีเมืองที่น่าสนใจในทุกประเทศ บริษัทมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นประเทศสปป.ลาว หรือมาเลเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปริมาณธุรกิจในต่างประเทศยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนธุรกิจในประเทศไทย และประเทศไทยยังถือว่าเป็นฐานธุรกิจสำคัญและแข็งแกร่ง เพราะมีสัดส่วนเบี้ยรับรวมสูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ รวมถึงไทยยังมีผลิตภัณฑ์ประกันที่หลากหลาย ทั้งในส่วนของประกันคุ้มครอง ประกันสุขภาพ และประกันสะสมทรัพย์ ทำให้เป็นที่ดึงดูดต่างชาติ

"ตลาดในอาเซียน แม้จะเป็นตลาดใหม่ในเรื่องประกัน แต่มีการตอบรับที่เร็ว เพราะมีหลายประเทศที่ทำก่อนหน้าเรา และตอนนี้เป็นยุคดิจิตอลยิ่งเกิดขึ้นได้เร็ว และจากแนวโน้มที่ตลาดเปิดกว้างเราก็มีการศึกษาในเรื่องนี้เฉพาะ เราจึงต้องหาคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน ระบบที่ดี แม้ว่าตอนนี้ภาพธุรกิจยังไม่ชัด เพราะมีสัดส่วนธุรกิจที่น้อยอยู่ แต่ภายใน 3-5 ปีน่าจะเริ่มชัดเจนขึ้น"

 ปี59 ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมกว่าแสนล.

นายสาระ กล่าวต่อไปอีกว่า ธุรกิจประกันชีวิตในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมี 3-4 ปัจจัยหลักทั้งในส่วนของไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือคนไทยหันมาให้ความสำคัญในสุขภาพ ประกอบกับเรื่องดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาท ทำให้คนเข้าถึงประกันง่ายขึ้น และผู้ประกอบการที่ออกผลิตภัณฑ์ประกันมาแข่งขันกันหลากหลายมากขึ้น เหล่านี้สนับสนุนให้ธุรกิจประกันขยายตัวได้ดี

สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้บริษัทยังคงเน้นเรื่องลูกค้าเป็นศูนย์กลางเป็นนโยบายที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงเน้นลูกค้าทุกกลุ่ม แต่จะเน้นจุดที่มีโอกาสหรือพอจะเติบโตได้บริษัทจะเข้าไป โดยออกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับหรืออิงกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า อาจจะหยิบโปรดักต์ในเซ็กเมนต์ต่างๆ มาผสมกันออกมาวางเป็นโปรดักต์สำหรับลูกค้า Sub Segment ส่วนในเรื่องของดิจิตอล บริษัทได้จัดตั้ง "Innovation Center" เพื่อศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือเกิดขึ้นในอนาคตจนมีผลต่อธุรกิจ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค และ Fin Tech รวมถึงการนำดิจิตอลมาใช้ในกระบวนการธุรกิจ-ลูกค้า เพื่อทำให้ธุรกิจประกันมีความยั่งยืนขึ้น หรือมุ่งสู่ "ดิจิตอล อินชัวเรอร์"

ส่วนเป้าหมายการเติบโตในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวมขยายตัวกว่า 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปี 2557 ประมาณ 17% หากเทียบตัวเลขเบี้ยรับรวมของสมาคมประกันชีวิตจะพบว่าทั้งระบบขยายตัว 6.4% (ตัวเลข 11 เดือน) ถือว่าบริษัทเติบโตได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 2.62 ล้านบาท เติบโต 18% และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไป 4.99 หมื่นล้านบาท เติบโต 25% โดยสร้างผลงานเบี้ยประกันรับรายใหม่ 3.79 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% และมีสินทรัพย์รวมกว่า 2.96 แสนล้านบาท เติบโต 23% ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) มีสัดส่วนอยู่ถึง 422% สูงกว่าเกณฑ์ที่คปภ.กำหนดการสำรองอยู่ที่ 140% ทั้งนี้ ภายใต้สินทรัพย์ที่มีอยู่ประมาณ 95% เป็นสินทรัพย์ที่นำไปลงทุนหารายได้ตลอดเวลา

 เผย Solvency 2 ชี้ทิศธุรกิจประกัน

ดร.สุธี โมกขะเวส รองกรรมการผู้จัดการ สายงานยุทธศาสตร์องค์กรและฝ่ายบริหารความเสี่ยง กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกัน จะเป็นเรื่องของการบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับพอร์ตธุรกิจ ส่วนใหญ่พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับโมเดลธุรกิจประกัน จะเน้นการลงทุนระยะยาว เนื่องจากลูกค้าที่ถือประกันส่วนใหญ่ถือระยะยาว เกิน 5-10 ปี ดังนั้น พอร์ตการลงทุนประมาณ 85% จะเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนคงที (Fixed Income) เช่น พันธบัตร บอนด์ หุ้นกู้ เป็นต้น และประมาณ 10% จะเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น หุ้น หรือยูนิต ทรัสซ์ และที่เหลือประมาณ 5% จะเป็นการปล่อยสินเชื่อ

นอกจากนี้เรื่องของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ก็เป็นนโยบายที่บริษัทให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ Solvency 2 ที่มี 3 เสาหลัก คือ 1.การกำกับภาคธุรกิจในเชิงปริมาณ (Quantitative Requirement) เช่น การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำที่ต้องดำรงไว้ตามระดับความเสี่ยง หรือ Risk Base Capital ซึ่งคล้ายกฎบาเซิล 3 ของธนาคารพาณิชย์ และ 2.การกำกับภาคธุรกิจในเชิงคุณภาพ (Quantitative Review) จะเน้นการทำรายงานส่ง และ 3.พฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม (Market Discipline) เน้นการเปิดเผยข้อมูลต่อ สาธารณะอย่างเพียงพอ และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ดังกล่าวล้วนมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559