SMEsมีเฮ!'สมคิด'ส่งสุขผนึกหน่วยงานเล็งดันสินเชื่อ7 หมื่นล.กระตุ้นหนุนศก.ฟื้นตัว

07 ธ.ค. 2560 | 11:33 น.
SMEs มีเฮ! รองฯ สมคิด จับมือหน่วยงานเศรษฐกิจมอบบิ๊กกิฟท์ส่งสุขท้ายปี เผยเตรียมดันสินเชื่อ 7 หมื่นล้านกระตุ้นภาคธุรกิจ หนุนเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัว

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยหน่วยงานเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) SME Development Bank เปิดตัว 2 แพ็กเกจของขวัญชิ้นใหญ่ด้วยมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ประจำปี 2561 ได้แก่ 1. แพ็กเกจส่งเสริมและช่วยเหลือด้านที่ไม่ใช่การเงิน มีบริการ และกิจกรรมไฮไลท์ อาทิ การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) 23 แห่งทั่วประเทศ การจับมือธุรกิจชั้นนำระดับโลกเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้แก่ SMEs การพัฒนา Platporm T-Goodtech เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยในการทำธุรกิจแบบ B2B

2. แพ็กเกจส่งเสริมและช่วยเหลือด้านการเงินซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างนำเสนอ โดยมีบริการไฮไลท์ อาทิ การเพิ่มบริการ Mobile Unit รองรับ SMEs 1 ล้านรายที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อของ SME Development Bank การสนับสนุนกองทุนและสินเชื่ออาทิ Transformation Loan, Local Economy Loan และกองทุนสำหรับคนตัวเล็ก (Micro) ภายใต้กรอบวงเงินรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์เครือข่าย เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ทุกกลุ่มทุกระดับอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ทั้ง 2 มาตรการพิเศษมีเป้าหมายในการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้ได้เข้าถึงงานบริการจากภาครัฐ ที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตสอดคล้องไปกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในทุกมิติ

sme6

 

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ดร.อุตตม สาวนายน) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ดร.สมชาย หาญหิรัญ) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สมาคมการธนาคาร สมาพันธ์ SMEs ว่า ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจภายใต้กำกับได้มุ่งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในทุกระดับผ่านนโยบายและมาตรการด้านต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

ซึ่งได้เน้นย้ำให้ผู้ดำเนินธุรกิจติดอาวุธด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ในยุคที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ยังได้เดินหน้าภาคอุตสาหกรรมด้วยการปรับระบบการจัดสรรงบประมาณที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ในการลงทุนและพัฒนาธุรกิจ การสนับสนุนโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานและด้านที่จำเป็น ตลอดจนการจับมือสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปี 2560 ที่ผ่านมานี้รัฐบาลได้ปฏิบัติภารกิจอันหนักหน่วงจนช่วยให้เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้น และขณะนี้จำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างความต่อเนื่องด้วยการเร่งรัดมาตรการต่างๆที่วางไว้ให้เกิดความรวดเร็ว เพื่อให้ทันใช้พร้อมกันภายในปีถัดไป

ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2561 รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจ ได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดแพ็กเกจของขวัญซึ่งเป็นมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs ให้เข้าสู่ยุค 4.0 โดยจะเน้นการตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในทุกมิติ พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่แต่ละกลุ่มจำเป็นต้องได้รับ ซึ่งในเบื้องต้นได้แบ่งมาตรการเป็น 2 ประเภท คือ

sme5

 

I-แพ็กเกจส่งเสริมและช่วยเหลือด้านที่ไม่ใช่การเงิน โดยจะสนับสนุนตั้งแต่วิสาหกิจชุมชน จนถึงผู้ประกอบการระดับขนาดกลางทั้งด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายให้ SMEs เกิดความเข้มแข็งพร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและยกระดับขีดความสามารถให้ไปสู่ช่องทางการค้าที่มีอยู่หลากหลาย ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวจะอาศัยความร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงจากหลายๆหน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีการแบ่งการบริการออกเป็นอีก 4 ด้านคือ

1.Service Upgrading (กลไกสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ) โดยจะเร่งยกระดับการบริการต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) จากเดิมที่เปิดบริการอยู่ 9 ศูนย์ ขยายเป็น 23 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมขยายส่วนบริการเพิ่ม ได้แก่ Co-Working Space เครื่องจักรทันสมัย บริการการปรึกษาเชิงลึกผ่าน Expert Pool (ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ) ที่ปรึกษาทักษะทางการเงิน การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุน แพ็กเกจคูปองเสริมแกร่งธุรกิจ SMEs ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการทั่วไปและที่ประสบปัญหากว่า 10,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME (SME Support Center) ด้วยกลไกและบริการทั้งหมดผ่านระบบดิจิทัลให้เกิดขึ้น 248 แห่งทั่วประเทศ

sme1

2.Enablers (การเสริมแกร่ง SMEs) ด้วยตัวช่วยที่จะบริหารจัดการ การ Transform SMEs ไปสู่ 4.0 ทั้งนี้จะเน้นการนำกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีผ่านการสรรหาจากภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ 60 องค์กรมาช่วยแก้ปัญหาธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะในด้านผลิตภาพและมาตรฐาน พร้อมทั้งช่วยเป็นโค้ชในการพัฒนาบุคลากรจากสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีความรู้ความสามารถในด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงการจัดทำแพล์ทฟอร์ม SME Big Data เพื่อให้ผู้ประการเข้าถึงบริการฐานข้อมูล โครงการที่ตรงกับความต้องการการพัฒนาแต่ละด้าน และองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่าน SME One Portal ได้ทุกที่ทุกเวลา

3.Capacity Upgrading and Transforming (การเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ) การพัฒนาขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยกลไกประชารัฐ โดยจะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกกว่า 20 ราย เช่น ปตท. เดลต้า เอสซีจี เดนโซ่ มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพให้ไปสู่การมีแนวคิดทำธุรกิจแบบสากล พร้อมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงรวมทั้งกองทุนให้เปล่า (Angel Fund) กับกลุ่มสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ (มอก.S) เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับ SMEs ที่มีมาตรฐาน ตลอดจนการส่งเสริมการใช้แพลทฟอร์ม T-Goodtech (ระบบเชื่อมโยงธุรกิจและผู้ประกอบการไทย) เพื่อช่วยในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ -ปลายน้ำกว่า 1,400 ราย พร้อมเชื่อมต่อสู่แพลทฟอร์ม J-Goodtech ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้สินค้า SMEs ไทยมีความน่าเชื่อถือและขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้น

sme3

4. Local Economy (การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน) เป็นนโยบายการยกระดับผู้ประกอบการฐานรากหญ้า พัฒนาสู่ SMEs รากแก้ว โดยจะดึงธุรกิจขนาดใหญ่มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในแต่ละท้องถิ่นตามแนวทางประชารัฐให้เดินหน้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ การยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวด้วยโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ททท. และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. พร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก การบ่มเพาะเกษตรกรกว่าร้อยละ 30 ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป เป็นต้น

II-แพ็กเกจส่งเสริมและช่วยเหลือด้านการเงินโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง กลไกนี้จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ลดข้อจำกัด หลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้สะดวกต่อการพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ ซึ่งได้วางโครงการไว้ 2 รูปแบบคือ

1. การยกระดับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Development BANK) โดยจะขยายหน่วยบริการทางการเงิน (Mobile Unit) ในระดับจังหวัดให้ครบทุกอำเภอและเขตเศรษฐกิจพิเศษ 905 หน่วย ซึ่ง Mobile Unit จะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการเตรียมความพร้อมต่างๆ พร้อมทั้งประสานงานและอำนวยความสะดวกกับหน่วยดำเนินการ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาระดับจังหวัดหรืออำเภอ ทั้งนี้ คาดว่าจะขยายเครือข่ายให้บริการสินเชื่อส่งเสริมพัฒนา SMEs ได้กว่า 1 ล้านราย พร้อมด้วยวงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

2.การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการร่างนำเสนอ ในเบื้องต้นมีแพ็กเกจต่างๆ ดังนี้
-SMEs Transformation Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 เพื่อ SMEs ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรม S-Curve ที่ต้องการลงทุน ปรับปรุง พัฒนาเครื่องจักร รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการผลิต และอาคารที่ตั้งเครื่องจักร

- สินเชื่อ Local Economy Loan เพื่อกลุ่ม SMEs ในระดับชุมชน อาทิ ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรมที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุน ปรับปรุง และขยายกิจการ
-กองทุนฟื้นฟู MSMEs คนตัวเล็ก เพื่อให้ผู้ประกอบการในระดับรายจิ๋วและรายย่อย (Micro) ที่เข้าถึงสถาบันการเงินได้ยาก โดยจะรองรับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดทั้งมีเงินทุนไม่เพียงพอต่อการดำเนินหรือเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงผู้ที่ต้องการลงทุน ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 แนวทางนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานและขับเคลื่อน ซึ่งเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยความราบรื่นพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวสอดคล้องกับทิศทางที่รัฐบาลได้วางเอาไว้ได้ ทั้งยังมีความมุ่งหวังอีกว่า เมื่อ SMEs ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และแนวคิดให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกด้วยความเป็น 4.0 แล้ว อัตราการเจริญเติบโตของประเทศในปีหน้าต้องมีทิศทางที่สดในด้านอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน ดร.สมคิด กล่าวปิดท้าย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว