ก.ล.ต.ร่วม3ประเทศยกระดับคุณภาพสอบบัญชีตลาดทุน

03 ส.ค. 2560 | 09:42 น.
ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีอีก 3 ประเทศหารือแนวทางยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีของตลาดทุน

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีของ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หารือแนวทางการยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีของตลาดทุนในภูมิภาคร่วมกันในการประชุมประจำปี ครั้งที่ 7 เกี่ยวกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์ใหม่ที่ใช้พัฒนาคุณภาพรายงานทางการเงิน ผลการนำรายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่มาใช้ และความท้าทายในการสอบบัญชีในเรื่องเครื่องมือทางการเงินและการรับรู้รายได้จากการทำสัญญากับลูกค้า

ก.ล.ต. ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ของไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศในอาเซียน 6 ประเทศ ในปีนี้ยังได้ร่วมมือกับธนาคารโลกจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศในภูมิภาคอาเซียนอื่นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีอีกด้วย

rapee

ในการประชุมนี้ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นำเสนอเกี่ยวกับพัฒนาการและกฎเกณฑ์ใหม่ที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพรายงานทางการเงิน ซึ่งที่ประชุมสนับสนุนแนวทางของไทยที่มุ่งพัฒนาคุณสมบัติ CFO และสมุห์บัญชี เพราะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำงบการเงิน เพื่อให้สามารถปรับตัวตามให้ทันกับนวัตกรรมด้านการเงินที่เกิดขึ้นใหม่ และมาตรฐานการบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สอบบัญชีสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมนำเสนอพัฒนาการที่สำคัญเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี อาทิ ผลการตอบรับของผู้ใช้งบการเงินในเชิงบวกเกี่ยวกับการนำรายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่มาใช้ เนื่องจากรายงานแบบใหม่ให้ข้อมูลสำคัญที่ผู้สอบบัญชีได้หารือกับผู้บริหารของกิจการ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงของงบการเงิน ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลในเชิงลึกเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ที่ประชุมยังหารือเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคต เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในไทยในปี 2562 ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดทำงบการเงินของสถาบันการเงินและธุรกิจที่ให้บริการสินเชื่อ เนื่องจากจะต้องประมาณการสำรองหนี้สูญโดยใช้ข้อมูลสถิติและสมมติฐานต่างๆ ที่มีความซับซ้อน จึงเป็นความท้าทายของผู้จัดทำงบการเงินและผู้สอบบัญชีทั้งในด้านการจัดเตรียมระบบบัญชีและฐานข้อมูล เพื่อรองรับการจัดทำประมาณการดังกล่าว รวมถึงการเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าวอย่างถ่องแท้

“การจัดประชุมหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีในภูมิภาคร่วมกันทุกปี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และสามารถรวบรวมประเด็นปัญหาภายในภูมิภาคและสื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับสากลได้ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานของรายงานทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนให้ทัดเทียมสากล จะปูทางไปสู่การระดมทุนแบบข้ามประเทศ ที่ข้อมูลทางการเงินของบริษัทในภูมิภาคสามารถเปรียบเทียบกันได้ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนทั่วโลกในการลงทุนในตลาดทุนอาเซียนได้อีกด้วย”นายรพี กล่าว